3เหตุผลกนง.ลดดอกเบี้ย

24 พ.ค. 2563 | 01:27 น.

ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics เผย 3เหตุผลคณะกรรมการกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย “ ลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย –เศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลง-กดรีโป้เร่งส่งผ่านสภาพคล่องปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจ”

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ในระบบและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้(ไม่แตะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ) โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภททั้ง 3ประเภทคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา(MLR)  อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี แบบเงินเบิกเกินบัญชี(MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR)

3เหตุผลกนง.ลดดอกเบี้ย
    
ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics เผย 3เหตุผลคณะกรรมการกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย “  ลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย –เศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลง-กดรีโป้เร่งส่งผ่านสภาพคล่องปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจ”

นายนริศ  สถาผลเดชา  เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทยหรือTMB Analytics  ระบุถึง  สาเหตุหลักของคณะกรรมการกนง.ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ได้แก่    1. ถ้าสามารถส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย โดยธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากับ 0.25%จะลดภาระดอกเบี้ยได้ถึงจำนวน  5.2หมื่นล้านบาทต่อปี  2.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่กว่า กนง.คาดการณ์ (ทั้งปีนี้จีดีพีไทยมีโอกาสติดลบ 5.3%) แม้ไตรมาสแรกผลจะออกมาดีแต่ไตรมาสสองน่าห่วง  3.เร่งการส่งผ่านสภาพคล่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปยังครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น  เนื่องเพราะเงินฝากที่ไหลเข้ามานั้น ธนาคารส่วนใหญ่นำไปปล่อยกู้กับ ธปท. ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร ธปท. (BOT Repo) ลดลงตามดอกเบี้ยนโยบายจะจูงใจให้ธนาคารนำสภาพคล่องปล่อยสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 

3เหตุผลกนง.ลดดอกเบี้ย
 

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 4ครั้ง โดย MLR ลดลงแล้ว 0.8% ส่วน MOR และMRR ลดลง 0.9% ทำให้รายรับดอกเบี้ยทั้งระบบธนาคารลดไป จำนวน 1.2แสนล้านบาทหรือ  7%ของรายรับดอกเบี้ยทั้งระบบต่อปีที่ 7.13แสนล้านบาท ขณะเดียวกันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ทั้งระบบน่าจะลดลง 0.44%จากไตรมาส1ปี2563ที่ 2.9%เป็น 2.46%ภายในปีนี้   นอกจากนี้กนง.ยังเดินหน้าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลน และปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีนัยสำคัญกว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะทำอย่างไรให้สินเชื่อถึงมือผู้ประกอบการเร็วที่สุดและตรงจุดขึ้น

3เหตุผลกนง.ลดดอกเบี้ย
ที่ผ่านมา(เมื่อวันที่ 20พ.ค.2563)คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว 
คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์  ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 
 

 อย่างไรก็ดี สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง  ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF )เป็นการชั่วคราว 
ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าและให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง