ปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินรับ New Normal

23 พฤษภาคม 2563

สธ.วางแนวทางให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินตามแบบปกติวิถีใหม่ เน้นควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด19 ปรับระบบขั้นตอนให้บริการ-ใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อลดความเสี่ยงขณะให้บริการในห้องฉุกเฉิน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้งานคัดกรองประเมินอาการผู้ป่วย ให้คำปรึกษา ส่งยาถึงบ้าน

 วันนี้ (23 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินว่า หัวใจสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในห้องฉุกเฉิน ทั้งจากผู้ป่วยไปสู่ผู้ป่วยและผู้ป่วยไปสู่ผู้ให้บริการ และมีความปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

มาตรการ 3 ส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น คือ 1.การคัดกรอง ตั้งแต่การซักประวัติอาการป่วย รวมไปถึงประวัติเสี่ยงติดเชื้อโควิด19 ต้องเว้นระยะห่าง ลดความแออัด การจัดคิวอย่างเหมาะสม 2. การจัดระบบบริการที่เหมาะสมทั้งการแต่งกายด้วยชุดป้องกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และพื้นที่ที่เหมาะสมเช่น ห้องแยกโรคความดันลบ พื้นที่แยกโรคที่ชัดเจนสำหรับหัตถการละอองฝอยขนาดเล็ก 3.การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความแออัดในการมาโรงพยาบาล การใช้ระบบการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine Consult) กับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ร่วมกับระบบการจัดส่งยาและบริการอื่นๆ ถึงบ้าน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในการให้บริการทางแพทย์ในช่วงโควิด-19ระบาด

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาลได้สื่อสารไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดรูปแบบการให้บริการห้องฉุกเฉินให้มีความปลอดภัยทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และญาติผู้ป่วย และขอย้ำว่าเรื่องการสวมหน้ากาก การคัดกรองประวัติของญาติที่จะมาเยี่ยมไข้ยังเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อไปสู่ผู้ป่วยถือเป็นความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต

 

ด้านนายแพทย์เฉลิมพล ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพที่ 10 (โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของห้องฉุกเฉิน คือ ไม่แออัด มีการเว้นระยะห่าง และระบบความปลอดภัยของบุคลากรและผู้ป่วย การทำงานของห้องฉุกเฉินจะทำงานต่อเนื่องตั้งแต่จุดเกิดเหตุ การรักษาในห้องฉุกเฉินและส่งต่อการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ  บุคลากรต้องปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสม อาทิ การใส่เครื่องช่วยหายใจ การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น (CPR) การส่งต่อผู้ป่วย จะต้องใช้บุคลากรที่จำกัด ทำงานเป็นทีมและปฏิบัติการในพื้นที่ที่เหมาะสมพร้อมอุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดขั้นตอนการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ