กำไรกลุ่มแบงก์ Q2 มีโอกาสหดตัว 35%

23 พ.ค. 2563 | 00:28 น.

SCBS คาดกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2/63 ปรับลง 35% YoY ผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยหด-ตั้งสำรองเพิ่ม คาดมีธ.ทิสโก้ รายเดียวที่รายงานกำไร QoQ ดีขึ้น  ขณะที่สินเชื่อแบงก์ 4 เดือนแรกเติบโต 5.3% 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ ( SCBS ) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 1.6%  MoM ในเดือนเมษายน มากกว่า 1.2% MoM ในเดือนมี.ค. การเติบโตส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐของธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง สินเชื่อที่เติบโตสูงผิดปกติของ ธนาคารกรุงไทย (KTB)หลักๆ เกิดจากภาครัฐ (ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้น) การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่เปลี่ยนแหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้มาใช้เงินกู้ธนาคารแทน เพราะตลาดตราสารหนี้ผันผวนมากขึ้น กลุ่มธนาคารขยายสินเชื่อได้ 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY )และเติบโต  3.4% นับจากต้นปีนี้ (YTD)  ดีกว่าประมาณการปี2563 ของ SCBS ที่ 3% เรากําลังพิจารณาปรับประมาณการอัตราการขยายของสินเชื่อเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเงินฝากเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.และเม.ย. โดยมีสาเหตุมาจากการโยกเงินมาพักไว้ในแหล่งที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอน

SCBS ยังคาดการณ์กำไรเบื้องต้นของกลุ่มธนาคารไตรมาส2/63 จะลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ( YoY) และลดลง 22% จากไตรมาสก่อนหน้า( QoQ) จากผลกระทบ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรกส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM ) หดตัวลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.40% ในเดือนเมษายน และ 0.125-0.35% ในเดือนพฤษภาคม ( หลังจากกนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 20 พ.ค. )แลกกับการลดอัตราเงินส่งสมทบกองทุนฟื้นฟู ฯ ลง 0.23% ในปี 2563-2564 มีผลไตรมาส1/63   ปัจจัยที่สอง คาดธนาคารจะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19

ประเมินว่า TISCO เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่น่าจะรายงานกำไรดีขึ้น QoQ ในไตรมาส 2/63 เนื่องจากธนาคารตั้งสำรองเพิ่มตามกระบวนการ management  overlay ไปแล้วในไตรมาส1/63 เพื่อสะท้อนการคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2563 จะหดตัวลง 5% คาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะลดลง 25% ในปี 2563 หลัก ๆเกิดจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น NIM ที่หดตัวลง และ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรับสุทธิ (non-NII ) ที่ลดลง

SCBS ยังคงเลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่มธนาคาร เนื่องจาก BBL เป็นธนาคารที่มีงบดุลแข็งแกร่งที่สุด หุ้นธนาคารส่วนใหญ่ซื้อขายที่ valuation ถูกที่ PBV 0.4-0.5 เท่า สะท้อนความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่มีสาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปค่อนข้างมากแล้ว