เวทีสภา ต้องพิจารณา พรก.อย่างสร้างสรรค์

24 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ค.63

          ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่โหมดการเมืองเต็มตัว อีกครั้ง หลังมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นี้เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสมัยสภาฯในวันที่ 18 กันยายน 2563 หรือราว 4 เดือน ซึ่งจะมีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท 3. พ.ร.ก.ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท และ 4. พระราชบัญญัติการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากรัฐบาลผลักดันกฎหมายทั้ง 4 ฉบับออกมามีกระแสวิพากษ์จากพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลต่อ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ว่า จะทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงิน กลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพียงไม่กี่คน

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เริ่มรับจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2563 ประกอบกับแนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2563 แม้ว่ารัฐบาลได้ดําเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในด้านการประกอบธุรกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ และมีแนวโน้มที่ผลกระทบดังกล่าวจะมีความต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากปัจจัยสําคัญที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 คือการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

          สําหรับประเทศไทยหลังจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้มาตรการต่างๆ แม้จะทําให้สถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ จึงเชื่อว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ และในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วงในปีนี้อย่างแน่นอน เราจึงหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จะใช้เวทีนี้ร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์นำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤติไปได้ในที่สุด