เงินเยียวยาโควิด ไม่ควรเป็นลาภ ที่มิควรได้

22 พ.ค. 2563 | 12:05 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ค.2563 โดย... กระบี่เดียวดาย

          รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นเพื่อแก้ไขปัญหาสกัดกั้นโรคโควิด-19 ที่รุนแรงและมีผลกระทบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
          เริ่มแรกเรา “เยียวยา” ให้กับประชาชนทุกกลุ่มผ่าน “เราไม่ทิ้งกัน” การเยียวยาเป็นการจ่ายเงินโดยตรงให้กับกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้ว่างงาน ตกงานจากพิษภัยโควิด กลุ่มอาชีพอิสระ ประมาณ 16 ล้านคน กลุ่มเกษตรกรอีก 11 ล้านครัวเรือน และยังมีผู้ตกค้างอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องได้รับการเยียวยา เพื่อบรรเทาพิษภัยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
          แน่นอนการใช้เงินเยียวยาครั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ไม่ใช่เงินแจกและต้องได้ทุกคน แต่ต้องเป็นไปตามความเดือดร้อนจำเป็นที่ได้รับจากพิษภัยโควิดจริงๆ
          “การจ่ายเงินหลวงออกไปเยียวยาประชาชน ต้องให้มั่นใจว่าถึงมือและตรงตัวผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ จึงไม่ควรที่ใครหวังตีตั๋วพ่วงทั้งที่ไม่เดือดร้อน ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เป็นเรื่องลาภที่มิควรได้ แต่ต้องไม่ได้หากไม่ได้รับผลกระทบ และไม่ควรที่ใครจะนำเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาไปหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง”
          กลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับ อาชีพอิสระ คนตกงานว่างงานฉับพลัน เกษตรกร ลูกจ้างร้านอาหารที่ปิดตัวชั่วคราว ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นทะเบรียนและมีการคัดกรองถูกต้องจึงควรได้รับ
          กลุ่มที่มิควรได้ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ยังทำงานอยู่

          อันที่จริงไม่มีเหตุที่ควรมาวิพากษ์ วิจารณ์ ถ้าไม่มีประเด็นถกเถียงเรื่องข้าราชการที่ทำอาชีพเสริมเกษตรกรไปด้วยจะได้รับสิทธิหรือไม่ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรได้อยู่แล้ว
          ปรากฏความสับสนขึ้นเมื่อ อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าการจ่ายเงิน “เยียวยาเกษตรกร” ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเดือนละ 5,000 บาท จ่าย 3 เดือน รวม 15,000 บาท ในส่วนข้าราชการจำนวนประมาณ 9.1 หมื่นคน ที่ประกอบอาชีพเสริมทำการเกษตร สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น สำหรับข้าราชการบำนาญหากถูกตัดสิทธิ แนะนำให้ดำเนินการอุทธรณ์ เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง
          สอดรับกับสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตามมติ ครม. ยังไม่ได้บอกว่าข้าราชการไม่ได้รับสิทธิเยียวยา ซึ่งขอเรียนว่าข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้รับสิทธิของมาตรการนี้”
          ก่อนที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะยืนยันในภายหลังว่ากลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา
          อันที่จริงรัฐบาลจ่ายเงินเดือนประจำ จ่ายบำนาญให้กับข้าราชการเป็นประจำรายเดือนสม่ำเสมออยู่แล้ว
          แม้ปลัดจะยืนยัน คณะกรรมการกลั่นกรองจะยืนยัน แม้ ธ.ก.ส.จะยืนยัน แม้ครม.จะกำชับ แต่ไม่วายยังมีความพยายามหาช่องที่จะทึ้งเงินก้อนนี้

          ขณะนี้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้แจ้งสมาชิกลูกบ้านที่รับราชการให้มาทำเรื่องเปลี่ยนให้สมาชิกในครอบครัวมาเป็นหัวหน้าครัวเรือนแทน ก็จะได้รับสิทธิเยียวยาเทียบเท่ากับเกษตรกรรายอื่น ที่รัฐบาลจ่ายครัวเรือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน เท่ากับ 15,000 บาท จะทำให้ไม่เสียสิทธิ หรือ สามารถเข้าไปแจ้ง เกษตรอำเภอ หรือ ผ่านแอพพลิเคชัน Farmbook เปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือน ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีข้อมูลร่วม 100,000 แสนราย ที่ไม่ได้รับสิทธิเพราะเป็นข้าราชการ
          เอากันเข้าไป !! ดูความพยายามทำกันแม้กระทั่งเปลี่ยนตัวหัวหน้าครอบครัวในทะเบียนบ้านหรือในทะเบียนเกษตรกร เพียงเพื่อให้ได้รับสิทธิเยียวยา
          ต้องหวนกลับไปคิดทบทวนกันใหม่ โดยเฉพาะผู้รับ ผู้หาช่องรับ มันไม่ใช่เงินฟรีที่มีมากมายมหาศาลพร้อมแจกให้ได้ทุกคน กระทั่งนักการเมืองก็ไม่ควรใช้เงินเยียวยาโควิด-19 เป็นช่องทางหาคะแนนเสียงเอากับผู้รับกลุ่มไหนๆ 
          เงินเยียวยาโควิด-19 ไม่ควรเป็นเงินลาภลอย ไม่ควรเป็นลาภที่มิควรได้ หรือเงินที่ต้องได้
          ให้คนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เถอะ !