จากขยะพลาสติก เป็นหน้ากากกันโควิด-19 

21 พ.ค. 2563 | 11:05 น.

ที่เห็นเป็นหน้ากากผ้าสวยงามแบบนี้ เบื้องหลังที่มาได้ยินแล้วต้องร้องว้าว เพราะนี่คือผลลัพธ์ของการนำขวดพลาสติกที่เป็นขยะลอยคว้างอยู่กลางทะเล มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นำขวดพลาสติกมาตัดเป็นชิ้นๆ แล้วเข้าสู่ขั้นตอนดึงเป็นเส้นใย นำมาทอเป็นผืนผ้าแล้วตัดเย็บเป็นหน้ากากอย่างที่เห็น

 

หน้ากากผ้าดังกล่าวจึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ “รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” เพราะนอกจากจะทำมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกที่เป็นขยะดังกล่าวข้างต้นแล้ว มันยังเป็นหน้ากากที่สามารถใช้แล้วนำมาซักทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำได้อีก

จากขยะพลาสติก เป็นหน้ากากกันโควิด-19 

จากขยะพลาสติก เป็นหน้ากากกันโควิด-19 

 

จากขยะพลาสติก เป็นหน้ากากกันโควิด-19 

ตัวหน้ากากตัดเย็บเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นผ้าเส้นใยรีไซเคิล 100% ชั้นในเป็นผ้ารีไซเคิล 92% ผสมกับอีลาสเทน 8% หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “สแปนเด็กซ์” เป็นเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นนั่นเอง บริษัทผู้ผลิตคือ โอเชียน บาลานซ์ (Ocean Balance) ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำขยะพลาสติกจากทะเลมารีไซเคิลเป็นผืนผ้าที่สามารถนำมาตัดเย็บเพื่อสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ริเริ่มจัดทำโครงการผลิตหน้ากากดังกล่าวคือสมาคมครูฝึกสอนดำน้ำอาชีพ หรือ พาดี (Professional Association of Diving Instructors: PADI) และบริษัทแรชอาร์ (Rash’R) ผู้จำหน่ายสินค้าแฟชั่นกีฬาและการออกกำลังกายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้ามีให้เลือก 6 แบบเป็นลวดลายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเล และ 2 ขนาดสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก มาพร้อมแผ่นกรอง 5 ชิ้น

 

จากข้อมูลของ “พาดี” ซึ่งเป็นสมาคมฝึกสอนการดำน้ำชั้นนำระดับโลก ยอดสั่งซื้อหน้ากากผ้าดังกล่าวที่มีเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์และร้านค้าออนไลน์ของสมาคม (https://www.padigear.com/collections/padi-face-masks) มีจำนวนเทียบเท่าการกำจัดขยะขวดพลาสติกออกจากท้องทะเลจำนวนกว่า 574.7 กิโลกรัม หรือมากกว่าครึ่งตันแล้ว

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563