เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

21 พ.ค. 2563 | 08:31 น.

      การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา2019 ปลุกให้ทั่วโลกตื่นตัวเพื่อรับมือ ท่ามกลางความมึนงงเพราะเป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ที่ไม่รู้จัก รวมทั้งหมออนามัยชาวดอยประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ต้องปรับตัวเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเพจเฟซบุ๊กสื่อสารโควิด19น่าน เพื่อเป็นสื่อกลางรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ จากคนหน้างานในพื้นที่เมืองน่าน บอกกล่าว"เรื่องเล่าดีดีโควิด19น่าน" หลายเรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตและการทำงานในห้วงประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่อง รพ.สต.บนดอย หมออนามัยชาวดอย ...

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

ตอน 2 “ถนนที่ขรุขระ”
➡️คนต้นเรื่อง : ปิ่นปินัทธ์ ชาญมณีเวช
➡️เรียบเรียงโดย : ทีมสื่อสารความเสี่ยง สสจ.น่าน
#เรื่องเล่าดีดีโควิด19 น่าน????
#เรื่องเล่าดีดีโควิด19 อำเภอปัว จังหวัดน่าน ...


การทำงานในชุมชนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่แตกต่างหลากหลาย บนสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน การดำเนินการต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ต่างต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ปรับตัว ซึ่งแน่นอนในระยะแรกถนนไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ ความโกลาหล อลเวง ก็เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้และศึกษา จากการติดตาม ดูแลผู้เสี่ยง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึง ต้นเดือน มีนาคม 2563 ดังนี้ 

 

บทที่หนึ่ง ความพร้อมที่ยังไม่พร้อม เนื่องจากในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีผู้เสี่ยงเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 เข้ามาในตำบลไม่มาก แม้ทางราชการจะมีมาตรการอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที  โดยเฉพาะเมื่อผู้เสี่ยงเดินทางมาถึงสนามบิน  ยังไม่สามารถติดตามผู้เสี่ยงได้  เมื่อผู้เสี่ยงเดินทางเข้าภูมิลำเนาก็ไม่ได้ไปแจ้งรพ.สต.  หรือผู้นำชุมชน

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

บทที่สอง ตระหนกแต่ไม่ตระหนัก แม้จะมีการสื่อสารทางสื่อต่าง ๆ แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว มาตรการต่าง ๆ ของทางราชการจึงไม่ได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประชาชนยังหวาดกลัวการให้ข้อมูลกับทางราชการ กลัวการไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะในส่วนของผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถรับข่าวสารจากทางราชการได้ เนื่องจากไม่สามารถฟังและสื่อสารด้วยภาษาทางราชการ(ภาษาไทย) แต่ข้อดีก็มี คือ นอกจากจะมีผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้านช่วยสื่อสารให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์แล้ว รพ.สต.บนดอย มีบุคลากรที่เป็นชาติพันธุ์ทั้ง 3 เผ่า การลงพื้นที่ทุกครั้งจะให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถใช้ภาษาประจำเผ่า(เผ่าม้ง เผ่าเมี่ยน และเผ่าลัวะ)  เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ปัจจุบันประชาชนให้ความร่วมมือดีขึ้นตามลำดับ ระดับผู้นำของพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีผู้เสี่ยงทั้งกักตัวครบ 14 วัน และอยู่ระหว่างการกักตัว ยอดสะสมรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

 

บทที่สาม ระบบงานในรพ.สต.บนดอย / หมออนามัยชาวดอย ยังเน้นด้านการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก การลงพื้นที่เพื่อค้นหาผู้เสี่ยงร่วมกับเครือข่ายยังไม่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การคิดร่วมกันปรับระบบงานใหม่

 

บทที่สี่ บทบาทหน้าที่ของเครือข่ายสุขภาพ ในระยะแรกยังไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม ทำให้ผู้นำระดับตำบล หน่วยงานราชการในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด 19 และจัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด 19 เพื่อหนุนเสริมการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ตั้งจุดตรวจคัดกรองเพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้นต่อไป

 

บทที่ห้า ความขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตนเองของเครือข่ายสุขภาพในตำบล ส่งผลให้ไม่กล้าลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุก  หากมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างก็เกรงกลัวจะติดเชื้อโควิด19 แม้อุปกรณ์บางอย่างจะได้รับการจัดสรรจากระบบราชการมาบ้าง  แต่ยังไม่เพียงพอ   เบื้องต้นส่วนราชการในพื้นที่ใช้งบประมาณจากหน่วยงานช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ การจัดซื้อเครื่องวัดไข้ จัดซื้อผ้ามาเย็บหน้ากากผ้า เป็นต้น  นอกจากนี้หมออนามัยชาวดอยได้ขอรับการสนับสนุนจากเอกชนต่าง ๆ เช่น มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยนไทย  มูลนิธิก้าวคนละก้าว ฯลฯ โดยได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด 19 มาส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานรพ.สต.บนดอย และในพื้นที่  ได้แก่ หน้ากากพลาสติก(face shield) หน้ากากอนามัย  หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ล้างมือ  แอลกอฮอล์เจล และกล่องใสป้องกันสารคัดหลั่ง เป็นต้น 

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

บทที่หก ความเครียด ของผู้เสี่ยง ญาติ และประชาชนบ้านใกล้เคียง ผู้เสี่ยงเกือบทุกรายมีความเครียด จนส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ทานอาหารได้น้อย ปวดอืดแน่นท้อง แน่นกลางอก หายใจฝืด นอนราบไม่ได้ ใจสั่น โดยทุกรายไม่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ แต่หลายรายก็มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอาการไม่สุขสบายทางโทรศัพท์ ทางไลน์ และลงเยี่ยม บางรายใช้ระบบขอคำปรึกษาแพทย์ และบางรายมีอาการไม่สุขสบายมาก จนทำให้ต้องเดินทางไปตรวจรักษาเองที่โรงพยาบาล แม้จะผ่านระบบให้คำปรึกษาตามแนวทาง เข้ารับการตรวจตามจุดบริการที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้ แต่ก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการการกักตัว ตามการขอความร่วมมือของทางราชการ 

 

ในส่วนของประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เคียงกัน ก็เครียดไม่น้อยไปกว่าผู้เสี่ยง หลายคนมาแสดงความคิดเห็น เช่น “หมอครับ /หมอคะ เอาคนเสี่ยงไปอยู่ที่อื่นไกลชุมชนไม่ดีกว่าหรือ คนแก่ ๆ ก็เยอะ เด็กเล็ก ๆ ก็แยะ ถ้ามาอยู่บ้านใกล้แบบนี้ ก็ไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องเฝ้าตลอด กลัวเด็กกับคนแก่ไม่เข้าใจ จะเดินเข้าออกบ้านของคนเสี่ยง น่ากลัวนะเสี่ยงด้วย เครียดจนนอนก็ไม่หลับเลย ถ้าคนแก่กับเด็กติดเชื้อขึ้นมาหมอจะรับผิดชอบยังไง?”  แต่ละครั้งหมออนามัยชาวดอย ก็ต้องรวบรวมองค์ความรู้  และหัวใจที่ปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย เพราะสังคมพร้อมจะระเบิดพลังใส่กันตลอดเวลา  กว่าแต่ละเรื่องแต่ละรายจะเดินไปถูกที่ถูกทาง สติ พลังใจ กำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ต้องเต็มถังจริงๆ  

 

บทที่เจ็ด ความพร้อมของสถานที่กักตัว สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนบางครอบครัวในพื้นที่ของรพ.สต.ชาวดอย จะอาศัยด้วยกันหลายคนในหนึ่งหลังคาเรือน ในหนึ่งห้องนอนต้องนอนกัน 3-5 คน ห้องน้ำรวม  เมื่อมีผู้เสี่ยงเดินทางเข้าพื้นที่ จึงไม่สามารถจำกัดหรือแยกพื้นที่การใช้ชีวิตประจำวันได้  จึงทำให้ทุกคนในครอบครัวเกิดความเสี่ยง บางรายแม้จะเตรียมสถานที่กักตัว แต่สภาพก็ไม่พร้อม เช่น อยู่ห่างไกลชุมชน  ไม่ปลอดภัย ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่มีห้องส้วม 

 

บางรายเลือกใช้พื้นที่สวนบนดอย ซึ่งอยู่พื้นที่ต่างอำเภอ ทำให้รพ.สต.บนดอยต้องติดตามอาการผู้เสี่ยงเอง  โดยเลือกการโทรศัพท์ติดต่อ เพราะพื้นที่ที่ผู้เสี่ยงไปอาศัยเป็นเขาเป็นดอยสูง การเดินทางยากลำบาก หมออนามัยชาวดอยไม่สามารถเดินทางข้ามอำเภอเพื่อไปติดตามเยี่ยมได้ แต่เมื่อผู้เสี่ยงมีความเจ็บป่วยด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านจิตใจ  ความเครียด จึงส่งผลให้ไม่สามารถกักตัวบนดอยสูงได้ จึงขอย้ายกลับภูมิลำเนา แต่ทั้งนี้ก็ต้องผ่านการปรึกษาหารือกันในทุกภาคส่วน  เพื่อให้สามารถจัดหาสถานที่กักตัวที่เหมาะสม 

 

อีกหนึ่งรายที่ที่นำส่งเข้าพื้นที่ด้วยระบบนำส่งของทางราชการ แต่อุปสรรคคือ  บ้านที่ทางครอบครัวจัดเตรียมไว้ไม่มีห้องส้วม ไม่มีน้ำใช้ (เจ้าของบ้านยังไม่ได้ขุดบ่อน้ำใช้  แต่ถึงแม้ว่าจะขุดบ่อน้ำในตำบลนี้ก็ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำใช้ขาดแคลนทุกปี) รพ.สต. อสม. และผู้นำชุมชนเข้าไปประเมินก่อนที่ผู้เสี่ยงจะเดินทางมาถึง อสม.คนหนึ่งพูดว่า “ หมอครับ คิดว่าพวกผมคงต้องช่วยขุดส้วมซึมให้ใช้ไปก่อน  ส่วนน้ำใช้ก็คงต้องขอให้อบต.เอาถังมาตวงไว้ให้ใช้  น่าจะดีกว่าไปอยู่รวมกับคนในบ้าน” (สิ่งที่แกนนำในชุมชนได้ลงมือทำ คือ หน้าที่ หรือความมีน้ำใจ นานแค่ไหนแล้วที่ต่างคนต่างดิ้นรนทำมาหากิน จนลืมใส่ใจกันและกัน ถ้าในสถานการณ์ปกติคงต้องควักเงินเพื่อขุดส้วม ควักเงินเพื่อซื้อถังเก็บน้ำไว้ใช้เอง) 

 

ทุกรายมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการกักตัวเสมอ ๆ แต่สำคัญที่ทำให้ผู้เสี่ยงและสังคมดำรงอยู่ได้ คือ ความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเอาใจใส่ของคนในชุมชน ที่ทำให้ทุกรายสามารถผ่านระยะเวลา 14 วัน ไปได้  สุขบ้างทุกข์บ้าง  แต่ถ้ามองมุมบวก  ก็จะเห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน 

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)

บทที่แปด สถานที่ราชการในตำบลไม่มีอาคารหรือไม่มีสถานที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  จึงไม่สามารถนำมาประยุกต์  ปรับปรุงให้เป็นที่สำหรับกักตัว 14 วันของผู้เสี่ยงได้ แม้ว่าผู้เสี่ยงแต่ละรายจะมีสภาพความเป็นอยู่  และสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน  ผู้เสี่ยงทั้งชายและหญิงบางรายร้องไห้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะได้รับผลกระทบทุกด้านโดยตรง โดยทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นทางทีมของหมออนามัยชาวดอย  และผู้เสี่ยงก็สามารถร่วมกันเผชิญ  และผ่านช่วงเวลาที่แสนยาวนานกว่า 14 วันมาได้อย่างปลอดภัย 

 

แต่ในสถานการณ์โรคระบาดโรคโควิด 19 ทำให้ได้สัมผัสกับสิ่งดีงาม ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดระหว่างเส้นทางการปฏิบัติงาน ในการดำเนินงานเฝ้าระวังในครั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่มีผู้เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากหนึ่งเป็นสอง เป็นสาม และจนมาถึงรายที่ยี่สิบอย่างรวดเร็ว การทำงานจึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภายในตำบล และระดับอำเภอ มีการประสานงานกับทั้งสายงานบังคับบัญชาในระบบกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  และกระทรวงศึกษาธิการ  จนส่งผลให้เกิดการดำเนินงานที่รวดเร็ว  ถูกต้อง และเป็นระบบระเบียบมากขึ้น  จนทำให้ข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในตำบลลดลง และหายไป การแต่งตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ตำบล ก็เริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563  มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน  สามารถหนุนเสริมให้การดำเนินงานเฝ้าระวังในครั้งนี้ปรากฎภาพการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาการทำงานในการดูแลผู้เสี่ยง ทั้งผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และได้ดำเนินการเพิ่มเติมในการที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดทุกราย  

 

นี่คือบทปฏิบัติการที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัวกัน บนหน้างานในชุมชน วันต่อวัน ที่ไม่มีในตำรา หรือข้อสั่งการ หากแต่ต้องพัฒนาปรับตัวตามสถานการณ์และบริบทของชุมชน บนหลักการการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรื่องเล่าดีดีโควิดน่าน"หมออนามัยชาวดอย"ถนนที่ขรุขระ(2)