บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว "บีบีเอส"คว้า "เมืองการบินอู่ตะเภา"

21 พ.ค. 2563 | 06:45 น.

บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว “กลุ่มบีบีเอส” คว้า “เมืองการบินอู่ตะเภา” ชงครม. 2 มิ.ย.นี้ ก่อนเดินหน้าเซ็นสัญญา เผยรัฐได้ผลตอบแทน 1.32 ล้านล้านบาท ในช่วง 50 ปี ได้ภาษีอากรเพิ่ม มากกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

     วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)  หรือ บอร์ด
อีอีซี ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน  มีมติเห็นชอบให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) กลุ่ม “บีบีเอส” เป็นผู้ชนะ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก”

บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว "บีบีเอส"คว้า "เมืองการบินอู่ตะเภา"

      โดยเตรียมจะเสนอครม.พิจารณาในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะมีการลงนามกับ กลุ่มบีบีเอส ได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้หรือกลางเดือนมิถุนายนนี้

     นอกจากนี้เพื่อ ผลประโยชน์ร่วมของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3  สนามบิน” ก็จะมีการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้

         สนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และสร้างความต้องการทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินจากกรุงเทพมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน

        ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี

     โดยการลงทุนพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก”  ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท (จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ) และจากการมีมติให้กลุ่มบีบีเอส ชนะประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม  ได้แก่

   1.ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท (เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี)

   2.ได้ภาษีอากรเพิ่ม  มากกว่า 62,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก)

   3. เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

   4.เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง

   5. สิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของรัฐ

บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว "บีบีเอส"คว้า "เมืองการบินอู่ตะเภา"
      กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบไปด้วยการร่วมทุนระหว่างบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง 35%  บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 45%และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น20%โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

      กลุ่มบีบีเอส ผู้ชนะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะลงทุนราว 2.7 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1.7 หมื่นล้านบาท ทางรัฐบาลโดยกองทัพเรือก็จะรับผิดชอบการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์2 การลงทุนด้านสาธารณูปโภค  และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ราว 4 พันล้านบาท

บอร์ดอีอีซี ไฟเขียว "บีบีเอส"คว้า "เมืองการบินอู่ตะเภา"

       ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส พร้อมลงทุนทันที หลังจากครม.เห็นชอบและลงนามสัญญาดังกล่าว โดยการลงทุนในเฟสแรกจะใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่3 รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน มากกว่าในทีโออาร์ซึ่งระบุไว้ที่ 12 ล้านคนต่อปี รวมถึงระบบเชื่อมต่อภายในอาคารผู้โดยสาร ภายใต้การลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การบริหารโดยสนามบินนาริตะ

        ทั้งนี้หลังเฟสแรกเปิดให้บริการ หากอัตราการใช้บริการของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งก็จะทยอยขยายการลงทุนในเฟสต่อไป ภายใต้การรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดที่ 60 ล้านคน สำหรับการดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองการบิน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์,เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนการหารายได้ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 

          เบื้องต้นบางกิจกรรมมีทั้งที่บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  BA และบีทีเอส จะดำเนินการเอง รวมไปถึงการเปิดสัมปทานให้เอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างก็จะดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

      “แม้ในขณะนี้จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่โครงการนี้กว่าจะก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จก็อีก 3 ปี  ซึ่งตอนนั้นธุรกิจการขนส่งทางอากาศก็น่าจะกลับคืนสู่ปกติแล้ว และการที่เราเสนอผลตอบแทนให้รัฐ3 แสนล้านบาท ก็เป็นข้อเสนอที่เรามั่นใจว่าจะดำเนินธุรกิจได้ตามแผนและสามารถจ่ายผลตอบแทนในระดับนี้ได้”นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

       อนึ่งการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีเอกชนยื่นประมูล 3 ราย ได้แก่

      กลุ่มที่ 1: กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส)  ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

      กลุ่มที่ 2: กลุ่ม Grand Consortium  ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

      กลุ่มที่ 3: กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ) หรือเครือซีพี