“ศรีสุวรรณ”จ่อร้อง สตง.จับพิรุธ ธ.ก.ส.ปมประมูลระบบ ATM

21 พ.ค. 2563 | 02:16 น.

“ศรีสุวรรณ” จ่อร้องสตง.จับพิรุธ ธ.ก.ส.ปมประมูลระบบบริหารธุรกิจ ATM มูลค่า 3,100 ล้านบาท

21 พฤษภาคม 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.63 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ในการตรวจสอบและพิสูจน์การดำเนินโครงการระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ของธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ว่า ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและมีความโปร่งใสหรือไม่  

สำหรับเรื่องนี้ นายศรีสุวรรณ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2549 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ระยะที่ 1 มูลค่า 1,200 ล้านบาท ในระยะเวลาของโครงการ 7 ปี โดยการประกวดราคา ซึ่งได้กลุ่มร่วมทำงาน(Consortium) ระหว่างบริษัท Platt Nera และบริษัท G-able เป็นผู้ดำเนินการ และมีบริษัท Data One เป็นผู้รับเหมาช่วง และต่อมาในปี 2554 ก่อนหมดสัญญาโครงการ ธ.ก.ส.ได้แก้ไขสัญญาให้แก่กลุ่มร่วมทำงานเดิมไปอีก 7 ปี โดยเพิ่มมูลค่าของโครงการอีกกว่า 2,000 ล้านบาทโดยไม่มีการประกวดราคา ทำให้กลุ่มร่วมทำงานดังกล่าวผูกขาดระบบ ATM ของ ธ.ก.ส.เป็นเวลายาวถึง 14 ปีที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อ 24 เม.ย.63 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้เปิดประมูลโครงการระยะที่ 3 ต่อระยะเวลาไปอีก 7 ปีมูลค่ากว่า 3,100 ล้านบาท โดยมีการจัดทำทีโออาร์ที่มีพิรุธ ซึ่งส่อไปในทางที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มร่วมทำงานรายเดิมๆเท่านั้น เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้บริหาร ธ.ก.ส. ไม่กล้าที่จะเข้าร่วมประกวดราคาแข่งขันมากนัก เช่น ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเคยมีผลงานการบริหารจัดการ ATM ของสถาบันการเงินในประเทศไทยโดยมีหนังสือรับรองจากสถาบันการเงินนั้น ๆ และผู้ชนะการประมูลจะต้องซื้อซากเครื่อง ATM ซากเครื่องปรับอากาศทั้งหมดตามราคาที่ ธ.ก.ส.กำหนด และเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมาย

ดั้งนั้น การประกวดราคาครั้งนี้จึงอาจเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สามารถกำหนดราคาได้ ทำให้ ธ.ก.ส. และรัฐเสียประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่องค์กรของรัฐกลับใช้โอกาสในช่วงที่รัฐกำลังสาระวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มาดำเนินการเร่งรีบในการจัดหาผู้ประมูลบริหารเครื่อง ATM ดังกล่าวนอกจากนั้น ยังเป็นช่วงที่ ธ.ก.ส.กำลังประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนใหม่จนถึง 12 มิ.ย.63 ซึ่งไม่ควรที่จะเร่งรีบเปิดประมูลในช่วงนี้

การกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ (คณะกรรมการวินิจฉัย) โดยได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ม.8 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐต้องโปร่งใส โดยต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ฯลฯ นายศรีสุวรรณ กล่าว