วิจัยกรุงศรีชี้ ศก.ไทยหดตัว 5 %

20 พ.ค. 2563 | 10:01 น.

วิจัยกรุงศรี เผยไตรมาสแรกศก.ไทยหดตัวหนักสุดในรอบ 8 ปี พร้อมประเมินครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงต่อเนื่อง คาดจีดีพีหดตัวที่ 5%

 

ทีมวิจัยกรุงศรีสรุปเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวหนักสุดในรอบ 8 ปีที่ -1.8%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยด้านการส่งออกสินค้าและบริการ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19  ที่ทำให้รายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมากตามจํานวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวแรง 


ด้านการใช้จ่ายภาครัฐทั้งการลงทุนและการบริโภค หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจาก ความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนการลงทุนหดตัวตามการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลง ขณะที่การบริโภค ยังขยายตัวได้แต่มีอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากกําลังซื้อของครัวเรือนที่อ่อนแอลงตามการชะลอตัวของรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร อีกทั้งครัวเรือนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายสะท้อนจากการดิ่งลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากความวิตกการระบาดของไวรัสโควิด -19 


สำหรับเศรษฐกิจไตรมาสแรกแม้จะหดตัวน้อยกว่าที่วิจัยกรุงศรีและผลสํารวจของบลูมเบิร์กที่คาดไว้ที่ -2.1% และ 3.9% ตามลําดับ แต่แนวโน้มในไตรมาส 2 มีความเป็นได้สูงที่จะทรุดหนักขึ้น จากผลกระทบของการระบาดของของไวรัสโควิด -19  ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น 


โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลเชิงลบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19   จากภายในประเทศและต่างประเทศ หลังการแพร่ระบาดกระจายไปหลายประเทศมากขึ้น จนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั่วโลกหยุดชะงักงันพร้อมกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 
 

 

ขณะที่ในครึ่งปีหลัง วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้สถานการณ์การระบาดของโรคโดยเฉพาะในประเทศไทยจะบรรเทาลงก็ตาม แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจยังไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ และมีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี จึงยังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ว่าจะหดตัวที่ 5% บนสมมติฐานไทยมีมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด -19  ที่เข้มงวด โดยจํากัดการเดินทางข้ามระหว่างประเทศและการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นเวลา 2 เดือน


ด้านสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง ล่าสุด ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น -6.0% ถึง -5.0% จากเดิมคาดขยายตัวที่ 1.5% ถึง 2.5% และ 2.8% ตามลําดับ

ด้านทางการเตรียมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs รายเล็ก พร้อมกับผ่อนปรนระยะที่ 2 แก่หลายกิจการให้กลับมาดําเนินการ รวมถึงขยับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-04.00 น. (เดิม 22.00-04.00น.) โดยกิจการ/กิจกรรมหลายประเภทที่สามารถกลับมาดําเนินการได้ เช่น การจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่มใน อาคารสํานักงาน, ร้านค้าปลีก,ค้าส่งขนาดใหญ่ ,ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ แบบมีเงื่อนไข เป็นต้นโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา 
 

 

นอกจากนี้รัฐบาลมีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19   แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เบื้องต้นทางการระบุจะใช้งบในการจัดตั้งกองทุนจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ซึ่งเตรียมนําเสนอให้ครม.พิจารณาเร็วๆนี้ 


ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19  ในไทยนับว่าบรรเทาลงมาก หลังจํานวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดลงจนเหลือเลขหลักเดียวและเป็นศูนย์ในบางวัน รวมถึงมีเม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและ เกษตรกรไม่ว่าจะเป็น "เราไม่ทิ้งกัน" ," เงินเยียวยาเกษตรกร"ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19  ทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และล่าสุดการผ่อนปรนให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดําเนินการได้ เพิ่มเติม 


อย่างไรก็ตาม สัญญาณเชิงบวกดังกล่าวเป็นเพียงการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกําลังเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้น กําลังซื้ออ่อนแอ และภาระ หนี้สินที่เพิ่มขึ้น อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การฟื้นฟูเศรษฐกิจใน ระยะถัดไปจึงต้องติดตามรายละเอียดของแผนที่จะทยอยเห็นความชัดเจนเป็นลําดับ ซึ่งหากเป็นมาตรการที่เน้นการเพิ่มตัวทวีคูณของการบริโภคและการลงทุนในประเทศคาดว่าจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง