WHAUP ลุยติดตั้ง โซลาร์บนหลังคา โรงงาน สิ้นปีครบ 50 MW

20 พ.ค. 2563 | 07:47 น.

ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ เดินหน้า ติดตั้ง โซลาร์บนหลังคา โรงงาน ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม เผยกระแสตอบรับดีเยี่ยม มีลูกค้าใหม่สนใจติดตั้งจำนวนมาก มั่นใจปี 2563 ปิดดีลครบ 50 เมกะวัตต์

นายนิพนธ์ บุญเดชานัทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร และโรงงาน หรือ โซลาร์บนหลังคา โรงงาน  ( Solar rooftop) ยังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีเป้าหมายที่จะลงนามสัญญากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมครบ 50 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะครบ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2565

 

ล่าสุดบริษัทได้มีการลงนามสัญญากับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ใน การติดตั้งแผง Solar rooftop บนหลังคาโรงงานฮอนด้าจำนวน 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงงานฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขนาดติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมถึงโรงบำบัดน้ำเสีย และโรงงานฮอนด้า นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี ขนาดติดตั้ง 2.5 เมกะวัตต์ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งการติดตั้งแผง Solar Rooftop ดังกล่าว จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Offset) ให้กับโรงงานฮอนด้าตลอดอายุการใช้งานของระบบได้กว่า 1 แสนตัน โดยได้เริ่มติดตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา

WHAUP ลุยติดตั้ง โซลาร์บนหลังคา โรงงาน สิ้นปีครบ 50 MW

                                                 นายนิพนธ์ บุญเดชานัทน์  

WHAUP มีมาตรฐานอย่างสูงในด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในโครงการ Solar Rooftop จาก Track record หลายโครงการ ปัจจุบัน ได้มีการเซ็นสัญญากับลูกค้าเพื่อ ติดตั้งโครงการ Solar Rooftop ไปแล้ว 43 ราย แบ่งเป็นลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและ Logistics Park ของดับบลิวเอชเอ จำนวน 29 ราย และนอกนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 14 ราย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกกว่า 80 ราย ที่ให้ความสนใจในการติดตั้ง Solar Rooftop  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินการติดตั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้” 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชั่นพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ Solar rooftop ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานด้านต่างๆ อาทิ ระบบ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่อุตสาหกรรม (Smart / Microgrid) โครงสร้างตลาดไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ (Net Metering) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมของ ดับบลิวเอชเอ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ใน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ซึ่งตามแผนการขยายธุรกิจที่วางไว้จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในปีนี้ อยู่ที่ 591 เมกะวัตต์