"ประชุมสภา" ส่อเดือด ฝ่ายค้านจ้องถล่ม ‘3 พ.ร.ก.’

22 พ.ค. 2563 | 00:40 น.

ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่โหมดการเมืองเต็มตัวอีกครั้ง หลังมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นี้เป็นตันไป จนสิ้นสุดสมัยสภาฯในวันที่ 18 กันยายน 2563 หรือราว 4 เดือน

นับเป็นการประชุมสภาฯ ในสถานการณ์ที่ท้าทายไม่น้อย เพราะนอกจากรัฐบาลต้องต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่คุกคามประเทศไทย ดูเหมือนว่าการประชุมสภาฯ สมัยนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมพร้อมที่จะเปิดศึกซักฟอกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27-29 พฤษภาคมนี้

พ.ร.ก. 3 ฉบับ จึงเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ที่อาจจะส่งผลต่อรัฐบาลได้ หากพรรคร่วมรัฐบาลหละหลวมต่อการ “ตั้งการ์ด” รับมือพรรคฝ่ายค้าน

สำหรับร่างพ.ร.ก.3 ฉบับ รัฐบาลเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อระดมเงินนำไปเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 


1. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ส. 2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท


2.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

3 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 กำหนดให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท

ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ หนีไม่พ้นที่จะเกิดกระแสวิพากษ์จากพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน แสดงความกังวลต่อ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ว่า จะทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงิน กลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน

ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูฯ ได้เปิดช่องให้มีการใช้วงเงินตามอำเภอใจ จนเป็นเหตุให้เกิดเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตก สูญเปล่า 

ส่วนพ.ร.ก.ช่วยเหลือวิสาหกิจฯ หากไม่มีหลักการที่รัดกุมอาจเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย 

 

การตั้งข้อสังเกตของแกนนำพรรคฝ่ายค้านดังกล่าว รัฐบาลพยายามชี้แจงเนื้อในที่แท้จริงของร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ตลอดจนเสียงเบรกจากฝ่ายการเมืองจากซีกรัฐบาล ที่โต้กลับว่า การพิจารณา พ.ร.ก.3 ฉบับ ไม่ใช่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” และการพิจารณาอนุมัติพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ได้ดำเนินการไปแล้ว หากฝ่ายค้านไม่อนุมัติก็ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการที่ได้ทำมาแล้ว

แต่ดูเหมือนพรรคฝ่ายค้านยัง “โหนกระแส” ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้น

กระทั่งล่าสุด นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลไม่ได้กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท อย่างที่บางคนเข้าใจ มีเพียงพ.ร.ก.ฉบับที่ 1 เท่านั้น ที่จะใช้เงินกู้ ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็นการใช้สภาพคล่อง ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้กู้เงินมา 1 ล้านล้าน การกู้เงินรัฐบาลจะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน ซึ่งในขณะนี้มีเพียง 2 โครงการเท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกู้ คือ การเยียวยาประชาชน และ เยียวยาเกษตรกร ที่ในปัจจุบัน (16 พ.ค. 63) ได้กู้เงินไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน และพันธบัตรออมทรัพย์ เครื่องมืออื่นจะทยอยตามมา”

 

นอกจากร่าง พ.ร.ก.3 ฉบับ ที่เตรียมเสนอต่อสภาฯ ยังมี ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น

คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ 1, 2 และ 3 ประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้

นอกจากนั้น ต้องจับตา ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ, ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสุราเสรี, จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อใด

ขณะที่เกมนอกสภา “คณะก้าวหน้า” ใช้ 22 พฤษภาคม วันครบรอบ 5 ปี คสช.ยึดอำนาจ หวังระดมมวลชนลงถนนอีกครั้ง

การเมืองหลัง “22 พฤษภาคม” ต้องจับตาว่าฝ่ายค้านจะเคลื่อนไหวถล่มดิสเครดิต “รัฐบาลลุงตู่” ได้มากน้อยแค่ไหน? 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,576 หน้า 12 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2563