ขายหุ้น “การบินไทย” พ้นรัฐวิสาหกิจ ยึด "เจแปนแอร์ไลน์" ฟื้นฟู

19 พ.ค. 2563 | 11:59 น.

"คมนาคม" ดัน ขายหุ้น "การบินไทย" พ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ ยันคลัง ต้อง ลดสัดส่วนถือหุ้น ต่ำกว่า 50% พร้อมยึดแนวทางฟื้นฟูกิจการเดียวกับ "เจแปนแอร์ไลน์ "

 มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่19 พฤษภาคม  ยึด แนวทางที่ 3 นำบริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) เดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง  ตาม มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คนร. และกระทรวงคมนาคมตามลำดับ โดยให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทย ต่ำกว่า50%  แม้ หุ้นทีขายออกอาจขาดทุน

แต่ในภาพรวม มองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการบินไทยยังดำเนินกิจการต่อได้ตามปกติ รวมทั้งยังคุ้มครองพนักงานกว่า20,000 คน  หากเทียบกับแนวทางที่1 รัฐบาล ค้ำประกันเงินกู้ ที่ประเมินว่า ได้ไม่คุ้มเสีย  กับ แนวทางที่2 ฟ้องล้มละลาย   

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายในวันนี้ (19 พ.ค.) ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทย โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล  ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด หากการบินไทยเป็นผู้ยื่นคำขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูก่อนเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นต่อศาล

ขายหุ้น  “การบินไทย” พ้นรัฐวิสาหกิจ ยึด "เจแปนแอร์ไลน์" ฟื้นฟู

ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นถึงการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐ ต่ำกว่า50% เพื่อให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจและพ้นจากข้อจำกัดของพ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการต่อแผนฟื้นฟูฯ รวมถึงข้อจำกัด พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เพื่อสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหา

 

ขายหุ้น  “การบินไทย” พ้นรัฐวิสาหกิจ ยึด "เจแปนแอร์ไลน์" ฟื้นฟู

ปัจจุบันทางกระทรวงฯ อยู่ระหว่างเตรียมรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยครบทุกแผนก ไม่ต่ำกว่า 15 คน  โดยจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า  ขณะเดียวกันระหว่างการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการของการบินไทยยังมีอำนาจตามปกติ เพราะถือว่ายังเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ระยะเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูฯ คาดแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.63

"เรามั่นใจว่าการบินไทยจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น ถึงแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ถึงเวลาที่ต้องเอ็กซเรย์อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข  อะไรที่ทำให้มีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร ซึ่งเป็นข่าวอยู่ กระทรวงคมนาคมจะเข้าไปดูเรื่องนี้ เราต้องดูสายบินโลกเป็นตัวอย่าง เช่น สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ เพียง 14 เดือน และออกจากแผนฟื้นฟูฯ กลับมามีกำไร 2,000 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับการดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสถานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีหนี้สิ้นที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้น 147,352 ล้านบาท โดยหนี้สินจำนวนดังกล่าวทางการบินไทยคาดการณ์ว่าการดำเนินการของการบินไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็จะทำให้การดำเนินการในปี 2563 มีภาระหนี้สินมากกว่า 200,000 ล้านบาท จึงทำให้ฐานะทางการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ

จากข้อมูลดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคมและกระทนรวงการคลังจึงต้องร่วมกันพิจารณา ในเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังได้พิจารณาในการช่วยเหลือการบินไทยในการเพิ่มสภาพคล่องโดยการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับการดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าว แต่ทางการบินไทยจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูฯที่เป็นแผนปฏิบัติการ(Action Plan) เสนอเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณา

แต่พบว่า แผนที่การบินไทยเสนอว่ามีความเสี่ยงอยู่ถึง 23 เรื่อง จึงพิจาณาว่าหากเห็นชอบแผนดังกล่าวทางการบินไทยก็ไม่สามารถดำเนินการตามปฏิบัติตามแผนได้และจะทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินจำนวน 50,000 กว่าล้านบาทไปอีก รวมถึงจะทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องของการฟื้นฟูบริษัท การบินไทยฯ และเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ

ทั้งนี้มั่นใจในหน่วยธุรกิจของการบินไทย ซึ่งมีทั้งหมด 6 หน่วย เนื่องจากจะเห็นว่าหน่วยธุรกิจทั้งหมดสามารถมีผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพในเรื่องการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันต้องเร่งปรับตัวในช่วงสถานการ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะดูว่า อะไรที่ทำให้การบินไทยเกิดปัญหาเหมือนทุกวันนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยพิจารณาช่วยเหลือการบินไทยในปี 2558 มาแล้ว 1 ครั้ง ถ้าการบินไทยดำเนินการตามแผนที่ยื่นไว้กับนายกรัฐมนตรี จะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

ส่วนการดูแลพนักงานการบินไทยนั้น ตนและนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับผู้บริหารการบินไทยว่า จะต้องเชิญสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเข้ามาหารือถึงการหาทางออกที่เป็นไปได้จริงและปฏิบัติได้ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับพนักงานกว่า 2 หมื่นคน แต่จะทำลักษณะใด ต้องไปดำเนินการให้เกิดความเข้าใจตรงกันด้วย

นอกจากนี้แผนดูแล 82 สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทยนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สื่อสาร บริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในหุ้น โดยมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อยและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย

สำหรับแนวทางยื่นล้มละลายต่อศาล ดังนี้ 1.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย 2.กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ตามมติ ครม. 3.บริษัทการบินไทย มีมติยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการเสนอตนเองเป็นผู้ทำแผนฯ ต่อศาล และตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ 4.ศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการและได้รับความคุ้มครองสภาวะพักชำระหนี้ 5. ส่งหมายให้เจ้าหนี้เพื่อประชุมอนุมัติจัดทำแผนฯ 6.ศาลตั้งผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ 7.ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ 8.ประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรับแผนฟื้นฟูฯและอนุมัติแผนฟื้นฟูฯ 9.ศาลพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 10.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายนี้จะส่งผลให้บริษัทการบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้การบินไทยสามารถสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ