แย่งเค้กที่ปรึกษา “2-5พันล้าน” โอกาสขาใหญ่ ในวิกฤติ “การบินไทย”

19 พ.ค. 2563 | 12:00 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3576 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.63 โดย... พรานบุญ

 

          นกกา พญาแร้ง ในป่าใหญ่ย่านวิภาวดีรังสิต-ทุ่งดอนเมือง-หนองงูเห่า พากันกระพือปีกพึ่บพั่บบินหนีแตกกระเจิง แบบตัวใครตัวมัน

          เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย  จำกัด(มหาชน) หรือ THAI ด้วยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อชุบชีวิตการทำธุรกิจของ “เจ้าจำปี” อันเป็นที่รักของประชาชนให้สามารถเดินหน้าทำงานต่อไปได้ โดยปลอดจากการระรานของบรรดาเจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นกู้

          ถือเป็นการล้มมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่จะเข้าไปดูแล “การบินไทย” ผ่านการค้ำเงินกู้-เพิ่มทุนก้อนโต รวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท แลกกับการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุนการดำเนินการผ่านการผ่าตัดใหญ่เพื่อนำพาการบินไทยให้พ้นวิกฤติ

          คุรุด้านกฎหมายบอกพรานฯมาว่า การฟื้นฟูกิจการตาม “กฎหมายล้มละลาย” นั้น มีเป้าหมายเพื่อต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) โดยจะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งเจ้าหนี้ภายใน และต่างประเทศ

          และที่ขาดไม่ได้คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพ จากภายนอกมาร่วมดำเนินการก็ได้

          หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้หรือที่เรียกกันว่า automatic stay เกิดขึ้นทันที นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้

          บรรดาเจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้เช่าซื้อ เจ้าหนี้การค้า เอเย่นต์ขายตั๋ว บริษัทลีสซิ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่าง พนักงานบริหาร แอร์โฮสเตส กัปตัน บริษัท การบินไทย (THAI) ตลอดไปจนถึงผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ตลาดหุ้น สหกรณ์ทั่วประเทศที่ลงทุนในหุ้นกู้กว่า 39,000 ล้านบาท พากันอ้าปากค้าง ...แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า “เจ้าจำปี” จะปีกหัก แต่ยังแอบลุ้นว่า น่าจะได้การค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาล 54,700 ล้านบาท มาลุยธุรกิจ

          ทว่า พลันที่ “การบินไทย” ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ บรรดาสหกรณ์ ประชาชน นักลงทุนรายใดที่ลงทุนหุ้นกู้ไว้ เชื่อมือพ่อพรานเหอะ เหตุการณ์ default risk อันเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดนัดจ่ายเงินกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้โดยไม่มีใครต้องการ...

          แม้ในทางปฏิบัตินั้นต้องรอลุ้นว่า ศาลจะเห็นชอบกับการยื่นฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เข้าข่าวตามข้อกฎหมายหรือไม่

          แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร เครือญาติโก โหติกา FC ของเจ้าจำปีในย่านวิภาวดีรังสิต-ทุ่งดอนเมือง-หนองงูเห่า-สีลม-หลานหลวง พากันกลายเป็นผึ้งแตกรัง บินหนีแบบไม่รู้ชะตากันป่าราบ

          พรานขอบอกว่าเมื่อเข้าสู่โหมดนี้เมื่อไหร่ ใครที่เป็นเจ้าหนี้ ใครที่เป็นคู่ค้ากับสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ ระวังตัวไว้เลยขอรับ “การเลื่อน ขยายระยะเวลาการจ่ายหนี้” จะมาถึงในเวลาไม่นานนัก...ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย จะมาหา หึหึ

          ขณะที่หลายคนใน “การบินไทย-เจ้าหนี้-สถาบันการเงิน” พากันตื่นตาแตก จากวิกฤติการบินไทยนั้น ปรากฎว่า กลายเป็นโอกาสของ “สำนักงานกฎหมาย-ทนาย-ทะแนะ-ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย” เพราะวิกฤติแบบนี้คือ “ขุมทรัพย์ที่จะกัดกิน” จากการทำงานฟื้นฟูกิจการที่ต้องมี “FA-Law Firm”ระดับอินเตอร์มาทำงาน

          เนื่องจากการเดินหน้าไปสู่โหมดการฟื้นฟูกิจการของ “การบินไทย” จะต้องมีการทำงานหลายอย่าง ทั้งข้อต่อสู้ในทางกฎหมาย ทั้งการเจรจาล็อบบี้กับบรรดาเจ้าหนี้ในและต่างประเทศ เท่าที่นับนิ้วมือได้กว่า 2.2 แสนล้านบาท หึหึ...ค่าต๋ง ค่าที่ปรึกษา จั๋งหนับ!

          บรรดา Big Four ซึ่งหมายถึงสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ 4 แห่ง อันได้แก่ PwC, Deloitte, EY และ KPMG ที่รับตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกินกว่า 50% ประชุมคณะทำงานกันให้ควั่ก โดยตั้งเป้าหมายว่า ข้าต้องได้งาน...

          ขณะเดียวกันนังบ่างบอกว่าขณะนี้ปรากฎว่ามี “นักวิ่งตัวใหญ่” ออกสตาร์ทล็อบบี้นักการเมือง รัฐมนตรีตรียันผู้มีบารมีเหนือพรรคการเมือง เพื่อขอให้ “ถีบหัวบริษัทที่ปรึกษา แอสเซ็นเจอร์-ฟินันซ่า” พ้นจากการเป็นที่ปรึกษาของ “การบินไทย” เพื่อเครือข่ายบริษัทตัวเองจะได้งานใหญ่ไฟกระพริบ

          ไม่เฉพาะสำนักงานผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ ที่มีฝ่ายกฎหมายและระเบียบงานเท่านั้น ที่ตั้งเป้าหมาย และพยายามหาช่องทาง เพื่อจะได้งานนี้ไป แม้แต่บริษัทสำนักงานกฎหมายระดับประเทศ ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็พากันละทิ้งความเป็น “มือกฎหมาย” หันมาวิ่ง “ล็อบบี้” ผ่านผู้มากบารมี เพื่อคว้าแผนฟื้นฟูที่ว่ากันว่า เป็นงานช้างระดับโลก

          พรานท่องไพรไปในสนาม ทราบว่าบรรดา “ผู้บริหาร หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชื่อดัง พ.ม.” ที่มีอดีตนักการเมืองเป็นประธาน “ ผู้บริหาร หุ้นส่วน เจ้าของ บริษัท สำนักงานกฎหมายสีขาว” ที่มี “ทนาย ม.ชื่อดัง” เป็นเจ้าของ “ผู้บริหาร หุ้นส่วนบริษัท ไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ แอนด์ คูเปอร์” สำนักงานกฎหมายติลลิกกี้ แอนด์ กิบบิ้นส์ สำนักงานกฎหมาย ลิงค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) ต่างพยายามหาช่องเพื่อเข้ารับงานฟื้นฟูกิจการครั้งนี้

          อย่าให้พรานบอกเชียวว่า มีใครหน้าตาเป็นเช่นไร วิ่งเข้าออกย่านรางน้ำ ย่านราชดำเนิน อาณาจักรของผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงเสียงจริง ไม่ทิ้งใคร เพื่อเจรจาคว้างานนี้กันบ้าง เพราะหน้าตาแต่ละคนนั้น บ่งบอกความเป็นตัวแทนของสำนักงานกฎหมายได้เป็นอย่างดี “ทนาย พ.” ผู้เป็นบรมครู ของสำนักงานกฎหมาย พ.ม. นั้น วิ่งไปหารือกับ รัฐมนตรี อ. เพื่อคว้างาน

          ส่วนอีเห็นดั๊นแอบไปเห็น “ทนาย ม.” นักกฎหมายผู้มากด้วยเหลี่ยมคู ลูกเล่น ลูกตุกติก แพรวพราวในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินทั้งในและต่าประเทศ แถมมากด้วย “คอนเน็กชั่นกับบรรดาเศรษฐี-นักการเมือง” ดอดไปเจรจากับขาใหญ่ในทางการเมือง 2 รายคือ “หมอ น.- ลูกพี่ น.” เพื่อถีบที่ปรึกษากฎหมายรายอื่นให้พ้นทาง..กึ๋ยยยย

          ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะ  “เจ้าจำปี-THAIเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทมหาชนที่ถูกตรวจสอบบัญชี โดย “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง)” และไม่เป็นที่ยอมรับในโลก เหมือนบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เป็น “บิ๊กโฟร์” ซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

          นอกจากภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีขนาดของงานจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการหาข้อมูลมาชี้แจงต่อศาลทั้งในประเทศและศาลในสหรัฐอเมริกามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ไหนจะงานสนับสนุนการสืบสวนและฟ้องคดี งานตรวจสอบเอกสาร งานด้านกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม (Regulatory Risk and Compliance) สารพัด จึงเข้าคุณสมบัติและเหตุผลว่าบริษัททั่วไปในไทยยากจะทำงานชุดนี้

          บรรดาขาใหญ่ใน “บิ๊กโฟร์-ยักษ์ใหญ่ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย” จึงพากันล็อบบี้วิ่งงานนี้ ผ่านทาง “รัฐมนตรี” ผ่านทาง “บุรุษผู้มากบารมี” ในทางการเมือง เพื่อเข้ามาเป็น 1 ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นที่ปรึกษากฎหมาย เป็นที่ปรึกษาการเงินของการบินไทย

          ไม่เว้นแม้แต่ “บล.ภัทร” ที่มี เจ้าสำนักเตา-บรรยง พงษ์พานิช เป็นพี่ใหญ่ก็พยายามคว้างานช้างชุดนี้

          อะแฮ่ม...ผลประโยชน์จากการเป็นที่ปรึกษาแผน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาบัญชีการเงิน ก้อนนี้ว่ากันว่า เอาแค่ 2-3% ต่ำสุดก็ปาเข้าไป 2-3 พันล้านบาท มากสุดโน่น “5-6 พันล้าน” เพราะรอบนี้จะไม่คิดจากการกำหนดราคาค่าจ้างที่ตกลงกันตามกฎหมายไทยอีกต่อไป

          หากแต่จะมีการยกเรื่อง “ค่า Success Fee มาเป็นฐานคิดค่าทำงานเหมือนในต่างประเทศ “ส่วนลดของต้นทุน” ของบริษัทการบินไทยที่ต้องจ่าย แต่ “ไม่ต้องจ่าย” เป็นฐานของค่าทำงานของที่ปรึกษาบัญชี การเงิน และกฎหมาย จากนั้นก็นำมาแบ่งเฉลี่ยปันกันตามเนื้องาน

          นกกาในป่าใหญ่ในลอว์เฟิร์ม-FA พูดกันให้ควั่กว่า Please กรุณาจับตาการเกลี่ยเค้กที่ปรึกษาก้อนโตของ  “เสี่ย น.กะ ลูกพี่ น.” ให้ดี

          หุหุ...คนในบิ๊กโฟร์และที่ปรึกษาทางกฎหมายกระซิบมาว่า งานนี้มีของหวานเปื้อนริมฝีปาก...อาหย่อย...ครับอาหย่อยลิ้น...