หนุนเอไอเอสได้สิทธิ์คลื่น900 TDRI แนะกสทช.เปิดประมูลล่วงหน้าก่อนหมดสัญญา

11 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
"ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์" โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเห็นแสดงความคิดเห็น 3 ข้อกรณี เอไอเอส ยื่นข้อเสนอรับราคาประมูลคลื่น 900 ของ "แจส" ยอมรับประหลาดใจ ชี้ "กสทช." ควรถาม "ดีแทค" ในฐานะผู้ร่วมประมูล แจงถ้าไม่มีใครคัดค้านเป็นประโยชน์ทุกฝ่ายโดยเฉพาะแก้ไขปัญหา "ซิมดับ" ขณะที่ "ดีแทค" หยั่งท่าทีแจงยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก กสทช.

[caption id="attachment_43756" align="aligncenter" width="343"] ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์[/caption]

ภายหลังจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทลูกของ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือถึง กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เสนอรับช่วงใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 G ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด นั้น

ปรากฏว่า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า จากข่าวเอไอเอส ทำหนังสือมาแจ้ง กสทช. เสนอรับช่วงใบอนุญาต 4 G ต่อจากแจส มีผู้สอบถามความเห็นมามาก ขออนุญาตตอบทาง Facebook นะครับ

ต่อประเด็นที่มีข่าวว่าเอไอเอส ทำหนังสือมาแจ้ง กสทช. เสนอรับช่วงใบอนุญาต 4G ต่อจาก แจส โดยยอมจ่ายค่าคลื่น 7.56 หมื่นล้านบาทตามราคาที่ แจส เคยประมูลได้นั้น ผมมีความเห็นดังนี้

เบื้องแรก ผมรู้สึกประหลาดใจที่เอไอเอส เสนอรับราคาประมูลของ แจส เพราะในการประมูลครั้งที่แล้ว AIS ออกจากการประมูลก่อนราคาดังกล่าวนานพอสมควร แต่พอเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเอไอเอส มองว่า การประมูลคราวที่แล้ว ตนเสนอราคาต่ำไป เมื่อไม่ได้คลื่นความถี่ จึงประสบปัญหาการถ่ายโอนลูกค้า ทำให้พร้อมเสนอราคาคลื่นให้สูงขึ้น ในครั้งนี้

กรณีนี้มีประเด็นที่สำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ 3 ประเด็นคือ 1. ผลประโยชน์ของรัฐ และประชาชนผู้เสียภาษี 2. ความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และ 3. ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ในประเด็นแรก หากมีผู้พร้อมจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 7.56 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าเป็นข่าวดีของรัฐบาลและกสทช. เพราะทำให้รัฐบาลได้รายได้ไม่น้อยกว่าเดิม และดีกว่าการเสี่ยงให้ กสทช. ไปประมูลใหม่ในเดือนมิถุนายนแล้วไม่ได้ราคาดังกล่าว เพราะสถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปมาก แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีแล้ว อยากเห็นรัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่า จะเอาเงินรายได้จากการประมูลนี้ไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น เอาส่วนหนึ่งไปเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เพราะที่ผ่านมา แม้ประมูลได้เงินมาก แต่หลายคนบอกว่า ถึงได้เงินมาก ก็ไม่แน่ใจว่า เงินจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า

ในประเด็นที่ 2 เรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ เนื่องจากจะไม่มีการประมูลนั้น ผมคิดว่า ก่อนจะดำเนินการต่อไป กสทช. ควรสอบถามอย่างเป็นทางการกับผู้ประกอบการรายอื่นโดยเฉพาะดีแทค ซึ่งเป็นรายเดียวที่ไม่ถูก กสทช. ตัดสิทธิจากการประมูลรอบใหม่ว่า พร้อมที่จะเสนอราคาสูงกว่าเอไอเอส หรือไม่ โดยหากพร้อมเสนอราคาสูงกว่า ก็ควรจัดการประมูลโดยเร็ว แต่หากไม่พร้อม ก็หมายความว่ายอมรับที่จะให้ เอไอเอสได้คลื่นไป โดยต้องให้คำตอบในเวลาที่กำหนด หากทำเช่นนี้ ข้อสงสัยเรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการก็จะหมดไป

ในประเด็นที่ 3 เรื่องผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคนั้น การจัดสรรคลื่นให้เอไอเอส จะช่วยแก้ปัญหา "ซิมดับ" ของผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องทีดี แต่ก็น่าเสียดายว่า ตลาดบริการ 4 G อาจมีการแข่งขันน้อยกว่าตลาดบริการ 3 G เพราะนอกจาก ไม่มีรายใหม่อย่าง แจส เข้าร่วมแล้ว รายเดิมอย่างดีแทค ยังไม่ได้คลื่นด้วย แต่ผลลัพธ์นี้ก็ไม่ได้แย่กว่า การประมูลรอบใหม่ ที่เอไอเอส เสนอราคาสูงกว่าดีแทค

โดยสรุป การที่เอไอเอส เสนอรับช่วงใบอนุญาต 4 G ต่อจาก แจส โดยยอมจ่ายที่ราคาเดิมนั้น หากผู้ประกอบการรายอื่นไม่คัดค้าน ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งเอไอเอส ซึ่งแก้ปัญหาของตนเองได้ รัฐบาลและ กสทช. ที่ได้รายได้ไม่น้อยกว่าเดิม และผู้บริโภคที่ไม่มีปัญหา "ซิมดับ" เรียกได้ว่าสามารถแก้ปัญหาไปได้อย่างมหัศจรรย์ด้วย "วิธีแบบไทยๆ"เพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ อีกในอนาคต กสทช. ควรจัดการประมูลคลื่นล่วงหน้าก่อนที่ ใบอนุญาตหรือสัมปทานของผู้ประกอบการจะหมดอายุนานพอควร เช่น 1 ปีขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และเกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ

ส่วนทางด้าน ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งอีเมล์ชี้แจงกับสื่อมวลชน ว่า ดีแทค อยู่ในสถานะผู้ถือครองคลื่นความถี่สำหรับให้บริการที่แข็งแกร่งมากถึง 50 เมกะเฮิรตซ์ โดยบริษัท มั่นใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้คลื่นตามแผนที่ต้องการในการประมูลคลื่นประมาณปี 2561 ทั้งนี้ จากกรณีที่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) มีความประสงค์จะจ่ายค่าใบอนุญาตตามราคาของแจสเพื่อครอบครองคลื่น 900 MHz นั้น ดีแทคยังไม่ได้รับการแจ้งเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท ก่อนที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559