23 จุดเสี่ยงดึง "การบินไทย" สู่ศาลล้มละลาย

23 พ.ค. 2563 | 01:35 น.

ถึงแม้ว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ อีกทั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ปัจจุบันกลับมีสถานะทางการเงินเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในองค์กรและความขัดแย้งในบอร์ดบริหารเรื่อยมา รวมถึงการปรับตัวช้า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เข้ามา ประกอบกับมีสายการบินคู่แข่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบินไทยอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2562 ขาดทุน 12,016 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 11,596 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 47 ล้านบาท และปี 2558 ขาดทุน 14,116 ล้านบาท จากปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูได้ และถึงขั้นส่อล้มละลายในปี 2563 จากการมาของโควิด-19

23 จุดเสี่ยงดึง "การบินไทย" สู่ศาลล้มละลาย

ปิด 23 จุดเสี่ยงไม่ได้ “ล้มละลาย”

สำหรับ 23 ความเสี่ยง ที่ต้องเร่งแก้ไข อย่างลดเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร, ขจัดการต่อต้านกลุ่มมาเฟียเดิม และหรือ ผู้แทนจำหน่ายที่เสียผลประโยชน์จากการขายบัตรโดยสารแบบ Single Price, ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ มีจำนวนพนักงานสอดคล้องกับกำลังการผลิต, จัดกลุ่มธุรกิจเริ่มตั้นแต่ฝ่ายช่าง ปรับปรุงธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานเชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง, จัดกลุ่มธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์, ดำเนินธุรกิจในอนาคตของ กลุ่ม Business Unit ,จัดครัวการบินไทยสาขาต่างๆ ใหม่เพื่อสามารถทำกำไรให้สูง, ปรับปรุงการปฏิบัติงานและต้นทุนกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผน และผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถเข้าใจระบบการจัดการด้านนี้, บริหารต้นทุนโดยออกแบบโครงสร้างการซ่อมบำรุงใหม่ให้รองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์ของธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในระดับ, ปรับปรุงการปฏิบัติการ และบริหารต้นทุนในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น

23 จุดเสี่ยงดึง "การบินไทย" สู่ศาลล้มละลาย

มิติยื่นศาลล้มละลาย

จุดยืนของกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างของการบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูตามกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง โดยบริษัทที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการจะต้องมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน รวมถึงการยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาเหตุผลความจำเป็น หรือมีช่องทางในการฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สรุป ผลหารือ กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า 1.ลดการถือหุ้นของกระทรวงการคลังต่ำกว่า 50% เพื่อให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ 2.เปลี่ยนมติการค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยยื่นล้มละลายต่อศาลละลายกลาง และในที่สุด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ในวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมาได้ยืนตามมติกระทรวงคมนาคม ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะสหภาพการบินไทย ไม่เห็นด้วย เพราะหาก การบินไทยพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เท่ากับพนักงานไม่ได้รับความคุ้มครอง ขณะ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สะท้อนว่าแผนการฟื้นฟูฯ ที่คนร.เห็นชอบไม่ใช่เรื่องการล้มละลาย เพียงแต่จะเข้าสู่แผนฟื้นฟู ปรับโครงสร้างหนี้และรายละเอียดต่างๆ คาดว่ากระบวนการยื่นต่อศาล อยู่ ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม นี้ ตามที่กระทรวงคมนาคมคาดหวัง

ท้ายที่สุดแล้ว “แผนการบินไทย” จะเป็นอย่างไร ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ชี้ชะตา เพื่อให้กิจการกลับสู่สายการบินระดับชาติอีกครั้ง

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

23 จุดเสี่ยงดึง "การบินไทย" สู่ศาลล้มละลาย