เบื้องหลังข้าราชการ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’

20 พ.ค. 2563 | 06:50 น.

นอกจากฟากฝั่งการศึกษากำลังมุ่งเข็มไปสู่การ “เรียนออนไลน์” หันกลับมามองระบบราชการของไทย แล้วก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า “พร้อมไหม” ถ้าจะเป็นมนุษย์ข้าราชการ 4.0 มีความเป็นดิจิทัลใช้ออนไลน์ทำงาน 

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียน เรื่องข้าราชการ “เวิร์กฟรอมโฮม” ในวิกฤติโควิด ทำงาน ส่งงาน ตรวจงาน บริการประชาชน ผ่านระบบออนไลน์ ล่าสุดไปเจอข้อมูลว่า สำนักงาน ก.พ. ได้รายงานผลเวิร์กฟรอมโฮม ของข้าราชการในช่วงสถานการณ์โควิด ต่อคณะรัฐมนตรี พบข้อมูลน่าสนใจจึงนำมาเล่าต่อ

ข้อมูลระบุว่ามี 134 ส่วนราชการ มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นอกสถานที่ตั้ง มี 80 ส่วนราชการ หรือ 60% ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มากกว่า 50% ของหน่วยงาน ทำงานนอกสถานที่ แล้วก็มอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาที่หน่วยงาน แบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ 

กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เน้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน หรือที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะเดินทางไปกลับ หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ

ส่วนรูปแบบการลงเวลาปฏิบัติงาน หรือ “ตอกบัตร” มีทั้งใช้ลงเวลาผ่าน LINE บางหน่วยงานใช้โปรแกรมเฉพาะของส่วนราชการนั้น และให้รายงานอัพเดตความก้าวหน้าของงาน อย่างต่อเนื่องผ่าน LINE และอี-เมล์ หรือโปรแกรมของหน่วยงาน

 

เบื้องหลังข้าราชการ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’

 

พบว่าส่วนราชการส่วนใหญ่ใช้ระบบการทำงานผ่าน LINE ถึง 48% ผ่าน Zoom 28% ผ่าน Microsoft Team 13% และผ่าน Cisco Webex 11% โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่าน Notebook โทรศัพท์มือถือ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ Tablet  และ IPAD

 

รายงานของก.พ.ยังรายงานถึง “ข้อจำกัดของส่วนราชการ” พบว่า ระยะแรก การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน สัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยี และ Application ในการปฏิบัติงาน

และพบอีกว่า ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ 

สำนักงานก.พ. จึงมีข้อเสนอแนะว่า 1. พัฒนาระบบโปรแกรมกลางเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง 2. จัดให้มีอุปกรณ์ หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น 

 

3. การให้ข้าราชการปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้ง ส่วนราชการจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การมีจุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเตรียมนํ้ายาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การเตรียมหน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 

แต่ตอนท้ายที่สำนักงานก.พ. รายงานต่อครม. ผมว่าจะต้องช่วยกันสะกิดเตือนข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ปรับตัวกับออนไลน์ เพื่อก้าวเป็นข้าราชการ New normal ที่เสี่ยงตกงาน เพราะก.พ.เสนอว่า มีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคนด้วยนะสิ 

 

คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,576 หน้า 10 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2563