‘เรียนออนไลน์’ ซํ้าเติมเหลื่อมลํ้า การศึกษาไทย

21 พ.ค. 2563 | 09:05 น.

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กระทรวงศึกษา ธิการเลื่อนเปิดเทอมจากเดือนพฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พร้อมกันทุกระดับชั้นทั้งประเทศ 

แต่ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม- 30 มิถุนายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดให้มีการ “เรียนออนไลน์” ผ่านทีวี 17 ช่อง และเว็บไซต์ DLTV รวมถึงแอพพลิเคชัน DLTV

  

เรียนออนไลน์ชั่วคราว 

จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าบรรยากาศการเรียนบนโลกออนไลน์ของเยาวชนไทยในวันแรก (18 พ.ค.) ดูเหมือนจะวุ่นวาย ตั้งแต่ 10 นาทีแรก ที่เริ่มระบบการเรียนการสอน เมื่อปรากฏว่า เว็บไซต์ DLTV และแอพพลิเคชัน DLTV ล่ม ไม่สามารถเข้าระบบได้ ในเวลาไม่นานก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติ 

ความไม่เอื้ออำนวยจากหลายปัจจัยและปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ จากผู้ปกครองในกลุ่มที่มีเด็กเล็ก สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้การสอนนอกห้องเรียนไม่มีประสิทธิภาพ บางครอบครัวมีลูกหลายคน เกิดปัญหาแย่งอุปกรณ์การเรียนกันเอง ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ขณะที่บางครอบครัวไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เป็นต้น

 

‘เรียนออนไลน์’ ซํ้าเติมเหลื่อมลํ้า การศึกษาไทย

 

ปัญหาที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า การเรียนออนไลน์วันแรกยังมีหลายปัญหาที่ต้องแก้ เพราะยังต้องมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นเรื่องการเรียนออนไลน์ก็มีปัญหา วัตถุประสงค์ คือต้องการเรียนไม่ให้ขาดตอน หลังจาก นั้นก็ต้องไปเปิดเรียนมาตรฐาน แต่มีคนไปเข้าใจว่าจะทำแบบนี้ไปตลอดซึ่งไม่ใช่ 

 

 

“ณัฏฐพล”รับไม่พร้อม

ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ แจกแจงว่า การที่เว็บไซต์เรียนออนไลน์ “ล่ม” สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนสนใจเรียนจำนวนมาก และพร้อมนำปัญหาไปเตรียมความพร้อมปรับปรุงแก้ไขก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมนี้  

ในช่วงที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 นักเรียนจะเรียนที่บ้านโดยใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก ส่วนการเรียนออนไลน์จะให้สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีอุปกรณ์มีความพร้อมและมีความสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีเรียน

ส่วนนักเรียน ม.ปลายคนใดที่ไม่มีอุปกรณ์ ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ ศธ. ต้องหาทางออกให้ เช่น ให้เรียนที่ห้องเรียน โดยโรงเรียนบริหารจัดการให้นักเรียนเข้ามาเรียนในห้องเรียนโดยจัดกลุ่มเล็กๆ เป็นต้น

สำหรับปัญหาเว็บไซต์ล่มที่พบวันแรกของการเรียน เนื่องจากมีคนสนใจมาก ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเตรียมความพร้อมต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมคลาวด์ หรือ เซิฟเวอร์ ไว้รองรับเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงมีงบประมาณไว้แล้ว และมีเวลา 45 วัน ในการแก้ไขต่อไป

 

เพิ่มเหลื่อมลํ้าการศึกษา

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความเห็นว่า นโยบายการ “เรียนออนไลน์” ถือว่ามีปัญหา เนื่องจากสภาพสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่อง “การศึกษา” มีความ “เหลื่อม ลํ้า” มากถึง 25 เท่า ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่อีกจำนวนมากหรือกว่าครึ่งไม่สามารถทำได้

“การเรียนออนไลน์ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนให้ระดับหนึ่ง อย่างแท็บเลต Wi-Fi แต่กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้กลับไม่ลงทุนเพิ่มเลย ใช้ของเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นภาระจึงตกไปอยู่กับคนระดับล่าง อย่างกรณีคุณยายนำเงิน 2,000 บาท ไปซื้อมือถือให้กับหลานเพื่อใช้เรียนออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญทางการศึกษา แต่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด”

 

นักวิชาการด้านการศึกษาจากจุฬาฯ แนะนำว่า เรื่องนี้กระทรวงศึกษาฯ ควรกระจายอำนาจให้กับผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ เพื่อสะท้อนถึงความต้องการ แทนการสั่งการตรงจากส่วนกลางลงไป เพราะอย่าลืมว่าการเรียนการสอนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดโควิด-19 เลย และมีเด็กในโรงเรียนน้อย ก็ควรเปิดให้มีการเรียนการสอนตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข หรือให้ อสม. เข้ามาร่วมตรวจสอบ เป็นต้น

นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาฯ ยังควรหันมาทำเรื่องอื่นนอกจากเรื่องการเรียน เช่น แจกหน้ากากอนามัยแบบผ้าสำหรับเด็กคนละ 3 ชิ้น แจกเฟซชีลด์ เป็นต้น และรูปแบบ “การสอน” ต้องเน้นไปที่เรื่องสุขอนามัยให้ตรงกับสถานการณ์ มากกว่าเปิดให้ "เรียนออนไลน์" เพียงอย่างเดียว

เป็นข้อเสนอที่นักวิชาการสะท้อน เพื่อให้กระทรวงศึกษาฯ ได้ขบคิด และแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา ควบคู่กับการป้องกันการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 อย่างลงตัว 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,576 หน้า 10 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2563