โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

19 พ.ค. 2563 | 05:59 น.

ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างกำลังเร่งมือ พัฒนาวัคซีน ยา และค้นคว้าหาวิธีการรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ซึ่งจนถึงขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วมากกว่า 4.7 ล้านคนภายในเวลาเพียง 4 เดือนกว่า ๆ นับจากที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อคนแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562  

โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA)ได้อนุมัติให้มีการใช้ยาต้านไวรัส “เรมเดซิเวียร์” ของบริษัทกิเลียด ไซเอินซ์ ได้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน (Emergency Usage Authorization: EUA) หลังจากที่ได้มีการทดสอบทางคลินิกแล้วว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับยาดังกล่าวสามารถฟื้นตัวและหายป่วยในเวลา 11 วัน นั่นหมายความว่า แพทย์ในสหรัฐฯ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลได้แล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศรับรองว่ายาดังกล่าวเป็นยารักษาโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

 

ระหว่างที่ยังไม่มียารักษาอย่างเป็นทางการนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงยังคงมุ่งมั่นพัฒนาวัคซีนและค้นคว้าหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพกันต่อไป และต่อไปนี้คือโครงการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จากการประมวลและรวบรวมของซีเอ็นบีซี

วัคซีน

  1. บริษัท โมเดอร์นา (Moderna) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐอเมริกา กำลังพัฒนาวัคซีนชื่อ "mRNA" ร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) การทดสอบระยะที่ 1 ในคนเริ่มมาตั้งแต่เดือนมี.ค. และให้ผลที่ดีในเบื้องต้น โดยอาสาสมัครมีการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นในร่างกายหลังได้รับวัคซีน 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ในจำนวนอาสาสมัครที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทให้สัมภาษณ์ว่า อย่างเร็วอาจผลิตวัคซีนป้อนสู่สาธารณชนได้ภายในเดือนม.ค.ปีหน้า (2564)

 

  1. บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เริ่มการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนม.ค. และจะเริ่มการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าจะแถลงผลได้ภายในสิ้นปี หากวัคซีนที่ได้มีประสิทธิภาพดี บริษัทก็จะเร่งผลิตออกมาให้ได้ 600-900 ล้านโดสภายในเดือนเม.ย. 2564

 

  1. บริษัท อิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคัล (Inovio Pharmaceutical) กำลังพัฒนาวัคซีนที่ชื่อ “INO-4800” โดยเริ่มทดลองทางคลินิกมาตั้งแต่เดือนเม.ย. และกำลังทดลองในอาสาสมัครในมลรัฐเพนซิลวาเนียและมิสซูรี คาดว่าจะทราบผลในฤดูร้อนนี้

โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

  1. มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ กำลังพัฒนาวัคซีนชื่อ ChAdOx1 nCoV-19 โดยเริ่มทดลองกับมนุษย์ในระยะที่1 มาตั้งแต่เดือนเม.ย. โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ 20 ล้านปอนด์  ทีมงานตั้งเป้าผลิต 1 ล้านโดสในเดือน ก.ย.นี้

 

  1. ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จับมือกับบริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ของเยอรมนี วิจัยและพัฒนาวัคซีนชื่อ BNT162  โดยเริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในมนุษย์เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากประสบความสำเร็จ บริษัทก็ตั้งเป้าผลิตวัคซีนหลายล้านโดสในสิ้นปีนี้ และอีกหลายร้อยล้านโดสในปีหน้า (2564) ไฟเซอร์ใช้เทคโนโลยี mRNA คล้ายกับบริษัท โมเดอร์นา ในการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมา

 

  1. ซาโนฟี (Sanofi) ของฝรั่งเศส ร่วมกับแกล็กโซสมิทไคลน์ (จีเอสเค) ของอังกฤษ ได้ทำข้อตกลงในการร่วมกันพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และตั้งเป้าผลิตวัคซีนจำนวน 600 ล้านโดสภายในปีหน้า บริษัทมีแผนเริ่มการทดลองทางคลินิกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

  1. บริษัท โนวาแว็กซ์ (Novavax) ประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ว่าจะพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ชื่อ NVX-CoV2373 โดยจะเริ่มการทดลองวัคซีนกับมนุษย์ในเดือนพ.ค. คาดว่าจะทราบผลขั้นต้นในเดือนก.ค. 

อ่านเพิ่มเติม ข่าวดี การทดลองวัคซีนโควิดคืบหน้า อย่างเร็วได้ฉีดมกรา 64

โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

ยาและการบำบัดรักษา

  1. กิเลียด ไซเอินซ์ (Gilead Sciences) บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงผลิตยา “เรมเดซิเวียร์” (remdesivir)ใน 127 ประเทศรวมไทย เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยผลการศึกษาการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ล่าสุดพบว่า การรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยาดังกล่าวเป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ยาเรมเดซิเวียร์นี้ให้ผลเป็นอย่างดีในการรักษาโรคซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกัน

 

  1. ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  ยาชนิดนี้ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ในระยะหลัง ๆ ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อย่างได้ผล อย่างไรก็ตาม ในการนำมาทดลองใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น มีผลการทดลองทางคลินิกทั้งในฝรั่งเศสและจีน ที่ระบุว่า ยาดังกล่าวซึ่งเป็นยาสามัญ และมีการผลิตในชื่อยา Plaquenol โดยบริษัท ซาโนฟี (Sanofi) ของฝรั่งเศส อาจจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม ข้ออันตรายการใช้ยาชนิดนี้คือ อาการข้างเคียงซึ่งมีตั้งแต่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปจนถึงการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไปจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  ดังนั้น FDA สหรัฐจึงเตือนประชาชนไม่ให้ซื้อยาดังกล่าวใช้เอง

โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

  1. ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัท ฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง (Fujifilm Holding) จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัท เจ้อเจียง ไฮซัน ฟาร์มาซูติคอล (Zhejiang Hisun Pharmaceutical) ยาดังกล่าวนี้เป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ก่อนแล้ว ผลิตโดยบริษัทฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง ต่อมาภายใต้โครงการความร่วมมือมีการนำยามาพัฒนาสูตรใหม่ เพื่อทดสอบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น 200 คน พบว่า การตรวจเชื้อไวรัสได้ผลเป็นลบ และอาการปอดอักเสบของผู้ป่วยก็ลดลง ตอนนี้การทดลองอยู่ในระยะกลาง

โลกมีความหวัง “วัคซีน-ยา” รักษาโควิด พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

  1. ยาเคฟซารา (Kevzara) เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ซาโนฟี และบริษัท รีเจนเนอรอน (Regeneron) ยาดังกล่าวเป็นยาที่ใช้รักษาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งสองฝ่ายเริ่มนำมาทดลองรักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการออกมาแถลงผลการทดลองทางคลินิกว่า มีแนวโน้มที่ดีสำหรับการรักษาผู้ป่วยหนัก แต่ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง บริษัทจึงยุติการทดลองในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

 

  1. ยาบาริซิทินิบ (Baricitinib) เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และกำลังถูกนำมาวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท อีไล ลิลลี (Eli Lilly) จากสหรัฐอเมริกาและสถาบันโรคภูมิแพ้และโรตติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases)

 

  1. อีกความร่วมมือระหว่างบริษัท อีไล ลิลลี กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และบริษัท รีเจนเนอรอน กำลังร่วมกันค้นคว้าวิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการสร้างสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี้ ที่ได้จากผู้ป่วยที่หายแล้ว รีเจอเนอรอนคาดหมายว่าจะสามารถนำวิธีการรักษาดังกล่าวมาใช้ในวงกว้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (ปลายฤดูร้อนต่อช่วงฤดูใบไม้ร่วง)

 

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการวิจัยของบริษัท ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคอล ของญี่ปุ่น ที่มีแผนเริ่มการทดสอบยาที่สกัดจากแอนติบอดี หรือโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 สร้างขึ้นมา คาดว่าการทดสอบอย่างเร็วที่สุดจะเกิดขึ้นได้ในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่ บริษัท โรช (Roche) จากสวิตเซอร์แลนด์ ก็กำลังทดลองทางคลินิกระยะ 3 สำหรับประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาโทซิลิซูแมบ (tocilizumab) เพื่อใช้รักษาอาการปอดอักเสบแบบปานกลางจนถึงรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19

แหล่งข้อมูลอ้างอิง Scientists race to find a cure or vaccine for the coronavirus. Here are the top drugs in development