เปลี่ยน "เงินเยียวยาเกษตรกร" ให้กลายเป็นเงินล้าน

19 พ.ค. 2563 | 05:50 น.

อัพเดทเงิน “เยียวยาเกษตรกร” หลัง ธ.ก.ส.โอนเงิน 5,000 บาท  “เกษตรกร” นำเงินไปทำอะไรกันบ้าง หวังพลิกชีวิตกลายเป็นรายได้หลักล้าน ด้าน สศก.สำรวจเกษตรกรส่วนใหญ่นำเงินไปใช้จ่ายในครัวเรือน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังคงลุยโอนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างต่อเนื่องในกลุ่มเกษตรกรงวดที่1  จำนวน 3.3 ล้านราย ซึ่งจะได้รับเงินภายในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ส่วนกลุ่มที่ 2  จำนวน 3.4 ล้านราย จะได้รับเงินภายในวันที่  28 พ.ค.นี้ เมื่อเกษตรกรได้เงินในมาตรการเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 แล้ว หลายคนจะนำเงินไปทำอะไรบ้าง

เปลี่ยน "เงินเยียวยาเกษตรกร" ให้กลายเป็นเงินล้าน

เริ่มจากนายชูชาติ​ ธุระ​กิจ​จำนง  ต.ทุ่ง​ขมิ้น​ อ.นาหม่อม​ จ.สงขลา​ เป็นผู้รับจ้างกรีดยางบัตรสีเขียว ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวาน (18 พ.ค.63) เฮกันทั้งตำบล เพราะได้ทั้งตำบล ดีใจกันมาก คาดว่า ธ.ก.ส.น่าจะโอนให้เป็นรายตำบล เพราะได้พร้อมกัน ซึ่งก่อนที่จะได้ขอย้อนเล่าให้ฟังนิดหนึ่งก่อน รัฐบาลมีช่องทางหลายช่องทางมากที่เข้าไปเช็ค “สถานะเกษตรกร” แล้วฐานข้อมูลก็คนละส่วนกัน

“ผมได้ไปเช็คข้อมูลในโครงการรัฐครั้งแรก ก็คือ ตรวจสอบสถานะข้อมูล www.เราไม่ทิ้งกัน.คอม ให้ไปลงเรื่องอาชีพ ซึ่งในส่วนตัวผม ชีวิตจริงทำอยู่ 3 อาชีพ อาชีพหลักก็คือกรีดยาง เพราะที่บ้านมีอยู่แล้ว  ส่วนภรรยาเป็นเจ้าของสวน และอาชีพทำไฟ และรับจ้างทั่วไป ซึ่งจากการไปตรวจสอบสถานะข้อมูล ก็ขึ้นว่า ผมติดในสถานะเกษตรกร พอติดผมก็ไปเสริชหาข้อมูลฐานข้อมูลเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร การตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน  ก็ตอบมาเลยว่าผม "ไม่ใช่เกษตรกร" ไม่มีข้อมูลในฐานทะเบียนเกษตรกร ของกรมส่งเสริมการเกษตร

นายชูชาติ กล่าวอีกว่า ในขณะนั้นใจผมรุ้ตัวเองดีว่าผมอยู่ในฐานข้อมูลของ กยท.ในส่วนบัตรสีเขียวคนกรีดยาง แต่ก็คิดในใจว่ากรมส่งเสริมการเกษตรกรน่าจะมีฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน แต่พอนำเลขบัตรประจำตัวประชาชนของภรรยาไปกรอกปรากฏว่ามีสถานะเป็นเกษตรกร แต่ผม “ไม่มี” ผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะอย่างไร จึงได้ไปกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในส่วนของ กยท. ตรวจสอบสถานะตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง  ปรากฏว่าไปขึ้นชื่อที่บัญชี กยท. ในส่วนของ คนกรีด พอเห็นอย่างนี้ก็รู้สึกสบายใจ จากนั้นก็ฟังข่าวและเช็คทุกวันว่า ธ.ก.ส. จะโอนเงิน 5,000 บาท ได้วันไหน ก็เช็คทุกวันตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค. เมื่อได้แล้วก็เฮกัน แต่ไม่ได้เฮ แค่ครอบเดียวนะ เฮกันทั้งตำบล ก็ดีใจ ภรรยาก็ได้ด้วยในฐานะเจ้าของสวนยาง

“เมื่อได้รับเงิน 5,000 บาท ผมได้ไปซื้อต้นพริก 10 ต้น กำลังปรับปรุงดิน เพื่อทำสวนครัว โดยคิดว่าไม่ต้องไปซื้อ มะเขือ พริก ผัก แล้ว แล้วจะเลี้ยงไก่ไข่ด้วย ถ้าเราไม่ต้องไปซื้อกิน อย่างน้อยเงินหลักพันที่ได้จากรัฐบาลจะกลายเป็นหลักหมื่น หลักแสน แล้วหลักล้านได้ ในอนาคต เพราะทุกคนกำลังเข้าสู่สวนยางแบบยั่งยืน โดยหลักของพ่อหลวง ร.9 ยึดเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยทำให้เรารอดพ้นวิกฤติมาแรงแค่ไหนก็รอด”

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้รายงาน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช อ.ฉวาง อ.ขนอม และจ.สุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พุนพิน อ.เมือง อ.คีรีรัฐ อ.พนม พร้อมติดตามผลการเข้าร่วมโครงการเยียวยาเกษตรกรอันเกิดจากผลกระทบไวรัส COVID-19 โดยงวดแรกรับเงินเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 และงวดสอง ในวันที่ 18 พ.ค. 63

จากการพูดคุยสอบถามความรู้สึกของเกษตรกรต่างมีความรู้สึกพอใจและมีความสุขมากกับโครงการนี้และฝากขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่ทอดทิ้งเกษตรกรไทยในช่วงวิกฤต โควิด-19 โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในครัวเรือน และดูแลจัดการสวนไม้ผลไม้ยืนต้น ได้ทันฤดูเก็บเกี่ยวพอดี สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ได้แนะนำช่องทางการตรวจสอบสิททธิ์ และการอุธรณ์ ตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 นางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ #สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่10 จังหวัดราชบุรีได้นำเจ้าหน้าที่ สศท.10 แสดงพลังความห่วงใยเกษตรกร  โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่ที่ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร ต้องมีการแนะนำสิทธิและการอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร กับผู้นำชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ ให้รับทราบอย่างทั่วถึงและชัดเจน โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ (ระหว่างวันที่ 18 พ.ค. ถึง 8 มิ.ย. 63) ซึ่งจะเข้าถึงผู้นำชุมชนและเกษตรกร ใน 7 จังหวัดภาคตะวันตก คือ กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี รวมกว่า 202 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ ผอ.สศท.10 กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ ต้องปฏิบัติตนตามข้อกำหนดสุขอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และข้อกำหนดในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด แต่ถ้ายังไม่ได้รับเงินเยียวยาให้ไปช่องที่อุทธรณ์ไปที่ www.moac.go.

 เช่นเดียวกันด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่5 ร่วมติดตามความก้าวหน้าและสอบถามเกษตรกรด้วยความห่วงใย ในโครงการเยียวยาเกษตรกรอันเกิดจากผลกระทบไวรัส COVID-19 พบว่าในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีเกษตรกรมีสิทธิ์ได้รับเงินจาก โครงการเยียวยาเกษตรกร งวดแรก รายละ 5,000 บาท จำนวน 38,621 ราย 31,334 ราย 30,811 ราย และ 37,013 ราย ตามลำดับ หลังจากนั้นจะมีการทยอยจ่ายเงินผ่าน ธกส. และธนาคารต่างๆ โดยตรง ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ต่อไป

จากการพูดคุยสอบถามความรู้สึกของเกษตรต่างมีความดีใจ ️ และกล่าวขอบคุณไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีส่วนช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤต โควิด-19 นี้ไปได้ และจะนำเงินที่ได้ ไปใช้จ่ายในครอบครัว และลงทุนทำการเกษตรในฤดูการผลิตนี้ โดยจะน้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการวางแผนการใช้เงินตาม #ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ สศท.5 ในฐานะนายทะเบียน จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ โครงการเยียวยาเกษตรกร ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับรู้และเข้าใจ ถึงหลักเกณฑ์ ช่องทางการตรวจสอบสิทธิ์ แนวทางการอุทรณ์ ให้รับทราบโดยเร็ว อนึ่ง ช่องทางการตรวจสอบสิทธิ์ เกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้จากช่องทางตาม www.moac.go.th

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจ ได้แจ้งฝากถึงเกษตรกรทุกท่านค่ะ!! กระทรวงเกษตรฯ เปิด www.moac.go อำนวยความสะดวกครบ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เบ็ดเสร็จในที่เดียวแล้ว!!

อ้างอิงข่าว