นักวิชาการชี้ “เรียนออนไลน์” สร้างภาระคนระดับล่าง-เหลื่อมล้ำ

18 พ.ค. 2563 | 07:35 น.

นักวิชาการด้านการศึกษา ชี้ “เรียนออนไลน์” สร้างปัญหาเป็นภาระให้คนระดับล่าง แต่กระทรวงศึกษาฯยุคนี้กลับไม่ลงทุนเพิ่มเลย เสนอจัด “ระบบการศึกษา” ที่หลากหลาย "ลดความเหลื่อมล้ำ"

นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่าน "เนชั่นทีวี ช่อง 22" ว่า นโยบายการ "เรียนออนไลน์" ถือว่ามีปัญหา เนื่องจากสภาพสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่อง "การศึกษา" มีความ "เหลื่อมล้ำ" มากถึง 25 เท่า ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่อีกจำนวนมากหรือกว่าครึ่งไม่สามารถทำได้

นายสมพงษ์ กลาวว่า ที่ผ่านการเรียนออนไลน์ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนให้ระดับหนึ่ง อย่างแท็บเล็ต Wi-Fi แต่กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้กลับไม่ลงทุนเพิ่มเลย ใช้ของเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นภาระจึงตกไปอยู่กับคนระดับล่าง อย่างกรณีคุณยายนำเงิน 2,000 บาท ไปซื้อมือถือให้กับหลานเพื่อใช้เรียนออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญทางการศึกษา แต่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างจากคนมีฐานะปานกลางไปจนถึงสูง

เรื่องนี้กระทรวงศึกษาฯ ควรกระจายอำนาจให้กับผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ เพื่อสะท้อนถึงความต้องการ แทนการสั่งการตรงจากส่วนกลางลงไป เพราะอย่าลืมว่าการเรียนการสอนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดโควิด-19 เลย และมีเด็กในโรงเรียนน้อย ก็ควรเปิดให้มีการเรียนการสอนตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข หรือให้ อสม. เข้ามาร่วมตรวจสอบ เป็นต้น

นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาฯ ยังควรหันมาทำเรื่องอื่นนอกจากเรื่องการเรียน เช่น แจกหน้ากากอนามัยแบบผ้าสำหรับเด็กคนละ 3 ชิ้น แจกเฟซชิลด์ เป็นต้น และรูปแบบ "การสอน" ต้องเน้นไปที่เรื่องสุขอนามัยให้ตรงกับสถานการณ์ มากกว่าเปิดให้เรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว

 

ด้านนายเชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ ไม่สามารถจัดการศึกษาแบบเดียวกันได้ในทุกระดับชั้น เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม และมหาวิทยาลัย ฉะนั้น จึงต้องเตรียมรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งก็ทราบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการมีการเตรียมการเอาไว้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะสื่อสารได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกลายเป็นกระแสวิตกกังวลอย่างกว้างขวาง

ส่วนเด็กที่มีปัญหาความไม่พร้อม จริงๆ แล้วมีอยู่ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเด็กชายขอบ อย่างเด็กพื้นที่สูงในภาคเหนือ สะท้อนถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ที่ยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย ฉะนั้นกระทรวงศึกษาฯ ต้องเร่งทำความเข้าใจ และจัดรูปแบบการเรียนการสอนรองรับเด็กทุกกลุ่มไม่ให้รู้สึกเหลื่อมล้ำหรือเรียนไม่ทันเพื่อนไปมากกว่านี้