ปลุกสังคมใช้ www.ไทยชนะ.com แย้มร่วมมือดี ได้ลุ้นคลาย "ล็อกดาวน์" ระยะ3

18 พ.ค. 2563 | 06:41 น.

โฆษกศบค.ขอบคุณ ร้านค้า-ประชาชน ใช้ www.ไทยชนะ.com เผย หากร่วมมือดี มีโอกาสลุ้น ผ่อนคลาย "ล็อกดาวน์" ในระยะ3

นนี้ (18 พ.ค. 63) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ขอบคุณประชาชนและร้านค้าที่ให้ความร่วมมือใช้ แพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ได้เห็นภาพการผ่อนคลายของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียน

"ส่วนที่มีภาพประชาชนไปแออัดก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าจำนวนมากในวันแรกที่มีการผ่อนปรนนั้น มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 เพิ่งจะผ่านไป 1 วัน เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะให้เนี๊ยบให้ดีคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีขรุขระไม่สะดวกสบายบ้าง เราเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาไปด้วยกัน พรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เชื่อว่า ถ้าทำกันได้อย่างดีในระยะที่ 2 ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ในระยะที่ 3 ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะเกิดขึ้นได้ ย้ำว่าถ้าทำระยะที่ 2 ได้ดี การผ่อนคลายระยะที่ 3 มีแน่นอน"

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.

นายแพทย์ทวีศิลป์ ยืนยันว่า แอปพลิเคชันไลน์ LINE “ไทยชนะ” เป็นบัญชีทางการ (Official Account) เป็นไลน์ของจริงไม่ใช่การปลอมขึ้นมา ประชาชนสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนได้ มีไว้สำหรับสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือรับข้อมูลข่าวสาร นอกเหนือจาก สายด่วน 1119  ไม่ได้มีไว้เพื่อการลงทะเบียน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามสำหรับผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม ที่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน เพื่อความเป็นส่วนตัว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อมูลจาก www.ไทยชนะ.com เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 17 พ.ค.มีร้านค้าลงทะเบียน 44,386 แห่ง ผู้ใช้งาน 2,002,897 คน จำนวนเช็กอิน 2,658,754 ครั้ง เช็กเอาท์ 1,845,191 ครั้ง ประเมินร้าน 1,258,261 ครั้ง และขณะนี้มีร้านค้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาลงทะเบียนมากที่สุดคือ ร้านอาหาร รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

www.ไทยชนะ.com ขั้นตอน เช็กอิน-เช็กเอาท์ ร้านค้า

www.ไทยชนะ.com "ลงทะเบียน" รหัสข้อมูล ถอดไม่ได้ มีความปลอดภัยสูง

เลิกระแวง www.ไทยชนะ.com ยัน ปลอดภัย-มีไว้ป้องกันโรค

ส่วนสถิติสถานที่ที่ประชาชนใช้บริการ www.ไทยชนะ.com มากที่สุดคือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมาคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร แต่ปัญหาที่พบคือ คน เช็กอิน แล้วไม่ เช็กเอาท์ ทำให้มีปริมาณประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มากกว่าความเป็นจริง ทำให้คนอื่นเข้าไม่ได้ ซึ่งประชาชนอาจจะลืมเช็กเอาท์

อีกสาเหตุหนึ่งพบว่า คิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ใช้เช็กเอาท์ติดไว้จำนวนน้อย จึงขอความร่วมมือให้สถานประกอบการติดคิวอาร์โค้ดให้ทั่วถึง ยืนยันข้อมูลดังกล่าวจะอยู่ที่กรมควบคุมโรค ไม่มีการนำข้อมูลไปทำอย่างอื่น