เงินบาทเปิด 32.06บาท/ดอลลาร์

18 พ.ค. 2563 | 01:22 น.

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ 32.06บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่  32.06บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.95-32.15 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า เงินบาท เริ่มเห็นการกลับมาซื้อขายของผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่มากขึ้น แม้ส่วนมากจะมองว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ากลับขึ้นไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหากับระดับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ขณะที่ในสัปดาห์นี้ มองเงินบาทจะซื้อขายในกรอบแคบโดยมีความเสี่ยงหลักคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งถ้าไม่ลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดหวังก็อาจเห็นการแข็งค่าของเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้
กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.85-32.35 บาทต่อดอลลาร์
 

ในสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่น่าติดตามหลายอย่าง 
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ จะมีการประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ซึ่งตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวราว 4.0% จากปีก่อนหน้าด้วยนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม 
ตามมาด้วยในวันพุธก็จะมีธนาคารกลางจีน (PBoC) ที่จะประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด (Loan Prime Rate) ซึ่งคาดว่าจะ "คงที่" ที่ระดับ 3.85% โดยมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีมติ "ลด" อัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบของเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

นอกจากนี้ในวันพฤหัส ก็ต้องติดตามรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดครั้งล่าสุด พร้อมกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่าน ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามมากที่สุดคือทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคต โดยในปัจจุบันตลาดคาดว่าเฟดจะต้องมีการใช้นโยบาย "ดอกเบี้ยติดลบ" ในที่สุด

ส่วนในฝั่งของตลาดการเงิน สัปดาห์นี้จะต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ สำหรับสหรัฐและจีนเพิ่มเติม เชื่อว่าทั้งคู่จะไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้เร็ว และอาจใช้นโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อกันมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปี จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์จะยังแข็งค่าต่อได้ถ้าข่าวร้ายนี้ กดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off)