ไวรัสไม่สะเทือน CPF รายได้ 17 ปท.ยังวิ่งฉิว

18 พ.ค. 2563 | 06:35 น.

CPF ชี้โควิด-19 ไม่กระทบธุรกิจเครือใน 17 ประเทศมาก ฟุ้งรายได้ 5 ปีนับจากนี้จะดีสุดเป็นประวัติการณ์ มั่นใจโตปีละ 8-10% พร้อมลงทุนในแคนาดา-สหรัฐฯเพิ่ม ต่อด้วยเวียดนาม ในไทยเล็งเพิ่มประสิทธิภาพระบบดิจิทัล เพิ่มรถบริการส่งอาหาร 500 คัน ออกสินค้าใหม่รับเทรนด์สุขภาพ

นายประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก บริษัทได้รับผลกระทบในบางประเทศเท่านั้น (ซีพีเอฟมีการลงทุนใน 17 ประเทศรวมไทย) ซึ่งบริษัทค่อนข้างโชคดีจากฐานผลิตใน 3 ประเทศ คือไทย จีน และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วน 76 % ของรายได้ โควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่อรายได้หรือมีน้อยมาก ส่วนที่เหลือ เช่น สหรัฐ มาเลเซีย ก็กระทบไม่มาก แต่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคืออินเดียที่รัฐบาลยังล็อกดาวน์กระทบต่อการขนส่งสินค้า ส่วนสหรัฐฯแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่บริษัทเน้นอาหารพร้อมทานจึงไม่กระทบแรงมาก  

ไวรัสไม่สะเทือน CPF  รายได้ 17 ปท.ยังวิ่งฉิว

สำหรับรายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมียอดขาย 138,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 10% โดยเป็นยอดขายของกิจการในต่างประเทศ 16 ประเทศสัดส่วน 68% ของยอดขายรวม ขยายตัว 12% จากปีก่อน หลักๆ มาจากกิจการในเวียดนามและจีน ส่วนกิจการในไทยที่มีสัดส่วน 32% ของยอดขายรวมเติบโต 6%  โดยมีกำไรในไตรมาส 1 อยู่ที่ 6,111 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2562 ถึง 43%  

ทั้งนี้หลังจากเกิดไวรัสโควิดที่จีน บริษัทเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรงงานผลิตในทุกประเทศที่ไปลงทุนให้สามารถเดินหน้าและผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการ รวมไปถึงการขนส่งที่มีการประสานกับรัฐบาลแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการซื้อสินค้าของผู้บริโภค อย่างไรก็ดีรายได้ในไตรมาส 2 ของบริษัทน่าจะลดลงแต่จะดีกว่าไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา

“กำไรที่ดีขึ้นของบริษัทส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสุกร โดยเฉพาะในเวียดนามจากภาวะสุกรขาดตลาดจากการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสุกรในเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาสุกรเฉลี่ยในเวียดนามและกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว นอกจากนี้กิจการในหลายประเทศก็มีการเติบโตดีขึ้นตามเป้าหมายการขยายงาน รวมทั้งการเริ่มรับรู้กำไรจากบริษัท Hylife ผู้ดำเนินธุรกิจสุกรในแคนาดาที่บริษัทเข้าไปถือหุ้น 51% ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยไตรมาส 1 ปีนี้บริษัทมีกำไร 385 ล้านบาท และมองว่าในอนาคตจะขยายการลงทุนในแคนาดาเพิ่ม รวมถึงสหรัฐฯทางตอนใต้ที่ติดกับแคนาดาที่สามารถส่งออกกลับมาจีนได้ หลังจากนั้นก็จะลงทุนเพิ่มในเวียดนาม”

หลังไวรัสโควิดคลี่คลายบริษัทได้เตรียมทบทวนแผนการลงทุนอยู่แล้วตามนโยบาย โดยจะไม่ขยายการลงทุนเพิ่ม แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจที่ลงทุนไว้เดิม ซึ่งปกติบริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ปีละ 25,000-30,000 ล้านบาท ปีนี้คาดน่าจะใช้งบลงทุนปีประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกลงทุนไปแล้ว 6,034 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในระบบดิจิทัล การเพิ่มประสิทธิภาพบริการส่งอาหารถึงบ้านจากเดิมบริษัทจะจ้างเอาต์ซอร์ซมาทำประมาณ 10,000 คัน แต่บริษัทมองว่าอาจจะมาทำเองโดยเบื้องต้นวางไว้ที่ 500 คัน ซึ่งขณะนี้มีบริการแล้วประมาณ 100 คันในการส่งของให้ลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่น B to C ของของซีพีเฟรชมาร์ท รวมถึงการเพิ่มสินค้าในกลุ่มเฮลตี้หรือกลุ่มสุขภาพ เพราะหลังโควิดผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจในสุขภาพกันมากขึ้น 

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้ารายได้ขยายตัว 8-10% ต่อปี (ปี 2562  ซีพีเอฟมีรายได้ 523,573 บ้าน กำไรสุทธิ 18,456 ล้านบาท) ช่วง 5 ปีนับจากนี้ ( 2562-2566) คงไม่มีการปรับแผนมาก และมั่นใจว่าภาพรวมรายได้จะดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563