3สมาคมโบ้ยรัฐแบกภาระกองทุนประมง อ้างเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ

19 พฤษภาคม 2563

3 สมาคม “ทูน่า-แช่เยือกแข็ง-กุ้ง” เชียร์ร่างกฎหมายกองทุนประมงแห่งชาติแจ้งเกิด แต่โบ้ยที่มาเงินกองทุนโยนรัฐรับภาระเต็มร้อย อ้างเก็บค่าเซอร์ชาร์จดันต้นทุนเอกชน-เกษตรกรเพิ่ม ด้านประมงนอกน่านน้ำหนุน หวังพลิกวิกฤติส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้มีการเสนอร่าง 2 ฉบับได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....  และ 2. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562  ได้เปิดเว็บไซต์ โดยกรมประมง รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 8-31 พฤษภาคม 2563 

 

สาระสำคัญร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับนี้เห็นพ้องว่า ภาคการประมงเป็นหนึ่งในภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ระดับต้นน้ำ อันเป็นการจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิตจากการทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปจนถึงระดับกลางน้ำ อันเป็นการจัดการหรือแปรรูปเพื่อก่อให้เกิดสินค้าหรือบริการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบกิจการแพปลา กิจการรวบรวมสัตว์น้ำ และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เป็นต้น ไปตลอดถึงระดับปลายน้ำซึ่งเป็นการส่งต่อสินค้าหรือบริการนั้นไปจนถึงมือผู้บริโภค ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสัตว์น้ำ กิจการอาหารแช่เยือกแข็ง และกิจการส่งออกสัตว์น้ำ เป็นต้น

 

ปัจจุบันกิจการภาคประมงของไทยยังขาดองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประสานผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อเสนอความความเห็นและประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายการประมงระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทักษะ และขีดความสามารถ ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ทั้งนี้ต่อร่างพ.ร.บ.สภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... นั้นส่วนใหญ่เอกชนเห็นพ้องทั้งหมด แต่ที่มีปัญหาคือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ. .... ประกอบด้วย 6 หมวด 35 มาตรา โดยเงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้จำนวนไม่น้อยกว่า 3  ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้แต่ละภาคส่วนมีความเห็นต่าง 

 

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กองทุนนี้ตามหลักการเห็นด้วย แต่ต้องใช้เงินรัฐบาล จะมาเก็บเงินจากเอกชนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วงนี้ก็ลำบากกันอยู่แล้ว เมื่อตั้งกองทุนแล้วอยากให้นำเงินไปสนับสนุนช่วยประมงพื้นบ้านในสัดส่วน 70-80% เพื่อให้มีการนำไปใช้ปรับปรุงเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนประมงพาณิชย์ ควรตั้งเงื่อนไขต้องจับปลาตัวใหญ่เฉพาะคนรับประทาน ไม่ใช่จับปลาเป็ด

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะตั้งกองทุนประมงฯ แต่จะมาเก็บเงินเข้ากองทุนจากผู้ประกอบการคงไม่ได้ เพราะพิจารณาจากโมเดลของกองทุนเกรงว่าจะเก็บเงินค่าธรรมเนียม(เซอร์ชาร์จ) การส่งออกคล้ายยางพารา

3สมาคมโบ้ยรัฐแบกภาระกองทุนประมง อ้างเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ

ส่วน นายสมศักดิ์  ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีกองทุนมาช่วยเหลือด้านการประมง และการเพาะเลี้ยง ซึ่งในกองทุนควรจะแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน อาทิ กองทุนเรือประมงพื้นบ้าน/พาณิชย์ และเพาะเลี้ยงควรจะจัดสรรเท่าไร เป็นต้น แต่ติงที่มาเงินกองทุนฯ เป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นเงินของภาครัฐมาเลยจะดีกว่า เพราะถ้าเป็นเงินที่มาจากเอกชนหรือเกษตรกรจากการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อเข้ากองทุนเพิ่ม มองว่าสถานการณ์ในตอนนี้เอกชนไม่พร้อม เพราะกำลังเผชิญปัญหารายได้น้อย แต่ต้องมาแบกภาระทำให้มีต้นทุนเพิ่ม

 

“สรุปก็คือ หลักการเห็นด้วย แต่อย่าทำให้เอกชน-เกษตรกรเดือดร้อน ดังนั้นที่มาของเงินกองทุนถ้าเป็นไปได้ควรจะมาจากภาครัฐโดยตรงดีกว่า”

 

ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมประมงไม่มีการพัฒนาเลย ที่มาของปัญหาโดยเฉพาะเรือประมงพาณิชย์หรือประมงนอกน่านน้ำคือไม่มีสถาบันการเงินใดอนุมัติปล่อยกู้ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไม่ได้เต็มที่ หากมีกองทุนช่วยแก้ปัญหาจะสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

 

  “พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกอาหาร เป็นหนึ่งในความมั่นคงและสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่หากพิจารณาสถิติย้อนหลัง 10 ปี การส่งออกสินค้าประมงถดถอยไปเรื่อยๆ ถ้าวันนี้มีกองทุนจะงอกเงยเป็นรายได้กลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น”

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563