หวั่น!โควิดลากยาวสิ้นปีกดจีดีพีทรุดหนัก

20 พฤษภาคม 2563

จับตาวิกฤติโควิด หวั่นระบาดรอบ 2 ลากยาวถึงสิ้นปี กดจีดีพีทรุดหนัก คาดกนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.50%  คลังยันไม่ห่วงหนี้สาธารณะพุ่งเกือบติดเพดาน 60% ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง แม้จะสูงสุดในรอบ 15 ปี ชี้ ปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นโตเกิน 3% อาจทำหนี้ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ได้

วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆให้ชะลอลงสะท้อนจากการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ซึ่งต่างก็หดตัวลงทั้งสิ้น ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ของไทยในวันที่ 18 พ.ค. ซึ่่งต่างมองไปในทิศทางเดียวกันที่จะหดตัว แม้ภาครัฐจะผลักดันมาตรการช่วยเหลือหลากหลายออกมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและยังช่วยประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงมากอีกด้วย

 

การกู้เงินครั้งนี้จากการคำนวณของกระทรวงการคลัง จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศขึ้นมาอยู่ที่ 51.84% ต่อจีดีพีในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 2562 ที่มีหนี้สาธารณะอยู่เพียง 41.20% แต่ยังไม่กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศที่กำหนดระดับหนี้สาธารณะได้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี แม้ว่าในปี 2564 ตัวเลขหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 57.96% ก็ตาม

 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่คาดการณ์ไว้เป็นเพียงการประมาณการภายในกรอบการใช้เงินกู้เต็มเพดานที่ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นหาก ณ เวลานั้น ไม่ได้ใช้เงินกู้ครบตามจำนวน จะทำให้ระดับหนี้ไม่ได้สูงเท่าที่คาดการณ์ ประกอบกับอัตราส่วนหนี้ยังขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคาดการณ์ปี 2564 เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกมากกว่า 3%ได้แน่ดังนั้นตัวเลขหนี้สาธารณะอาจจะตํ่ากว่าคาดการณ์ได้ 

 

“ขณะนี้เร็วเกินกว่าจะประมาณการได้ว่าจะมีผลกระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังมากน้อยเพียงใด เพราะต้องพิจารณาในปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประกอบกันด้วย แต่ยืนยันว่า กระทรวงการคลังจะดำเนินการต่างๆ ภายใต้ความเหมาะสมอย่างแน่ นอน” 

อย่างไรก็ตาม หากมองจากสถิติจะพบว่าหนี้สาธารณะหลังจากการกู้เงินดังกล่าวแล้วจะสูงสุดในรอบ 15 ปี นับจากปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีการคำนวณหนี้สาธารณะภายใต้พ.ร.บ.หนี้สาธารณะแบบใหม่ โดยปี 2548 จนถึงปี 2562 หนี้สาธารณะของไทยตํ่าสุดอยู่ที่ 35.16% ในปี 2550 และสูงสุดอยู่ที่ 44.79% ในปี 2548 ขณะเดียวกันก็ยังถือว่าตํ่ากว่าหนี้สาธารณะในช่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยในปี 2543 ที่หนี้สาธารณะพุ่งสูงสุดที่ 59.9% 

หวั่น!โควิดลากยาวสิ้นปีกดจีดีพีทรุดหนัก

สำหรับประมาณการตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ต้องรอตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสศช.ก่อนจึงจะปรับประมาณการใหม่ ซึ่งเดิมคาดว่า ไตรมาสแรกจีดีพีจะออกมาติดลบเฉียด 3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหรือหดตัวลง 3.4% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาล แต่เป็นห่วงไตรมาส 2 ที่โอกาสจีดีพีจะติดลบได้มากกว่า 10% ซึ่งน่าจะเป็นจุดตํ่าสุดของเศรษฐกิจไทย

 

ทั้งนี้ภายใต้สมมติฐาน ถ้าภาครัฐสามารถใช้จ่ายเพิ่มได้ประมาณ 4แสนล้านบาทจีดีพีจะดีว่าที่คาดได้ราว 1.5% แต่ห่วงผลกระทบจากการระบาด รอบ2 ที่จะลากยาวต.ค.-พ.ย. ซึ่งต้องปิดเมืองซํ้า จะยิ่งส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง จึงควรรักษาระยะห่างทางสังคมไว้

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 20 พฤษภาคม ทายใจว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% จาก 4 เหตุผลคือ เงินเฟ้อติดลบ ประกอบกับแนวโน้มจีดีพีไตรมาสแรกหดตัว 2.6% และห่วงว่า ไตรมาสที่ 2 จะหดตัวมากกว่า 10% ซึ่งหากกนง.ไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ อาจจะกดดันจีดีพีหดตัวรุนแรงกว่านี้

 

ขณะเดียวกันการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวยังช่วยลดภาระต้นทุนทั้งผู้บริโภคและการลงทุนโดยหวังให้มีเงินเหลือประคองกำลังซื้อและความจำเป็นของการดำเนินนโยบายคู่ทั้งการคลังและการเงิน เพราะแม้นโยบายการคลังกำลังเดินหน้าแต่อาจจะมีงบประมาณจำกัด

 

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์กล่าวว่า มองไปข้างหน้าทั้งในและต่างประเทศยังมีปัจจัยฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะคนทั้งโลกกำลังซื้อลดลงจากผลกระทบโควิด ซึ่งอาจลากยาวถึงหน้าหนาว (เดือนพ.ย.-ธ.ค.2563) แต่ยังมีปัจจัยหนุนคือ ทุกประเทศใช้ดอกเบี้ยนโยบายตํ่า ก็จะสนับสนุนเรื่องการบริโภคและการลงทุนได้ 

 

ดังนั้นช่วงนี้ทางการควรจะเน้นในประเทศมากกว่าการส่งออกและนำเข้า เพราะหลังโควิดแนวโน้มการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและธุรกิจด้วยเทคโนโลยีจะมากขึ้น เห็นได้จากการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเมืองไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และด้านสาธารณสุข รวมทั้งเน้นการสร้างงานระยะยาวโดยเฉพาะการรองรับคนตกงานหลังโควิดให้กลับมามีงานทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศ 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563