ฟื้นฟู "การบินไทย" ล้มเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน เข้าแผนฟื้นกิจการตามกฎหมายล้มละลาย

17 พ.ค. 2563 | 10:05 น.

ล้มแผนฟื้นฟูมติคนร.เดิม ถกแนวทางใหม่ 18 พ.ค. เคาะนำ "การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย ยกเลิกคํ้าประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้าน

ความเห็นที่ขัดแย้งในการแก้ปัญหาการบินไทยระหว่างกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กับกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เริ่มไปในทิศทางเดียวกัน

 

ล่าสุดได้ ข้อสรุปว่าจะยกเลิกแผนฟื้นฟูตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 แล้วเสนอแผนใหม่ เข้าหารือในการประชุมคนร.วันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ภายใต้แนวทางการนำการบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของไทย เพราะเห็นว่า หากยังยึดแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ จะไม่เปลี่ยนอะไรมาก จึงหันมาเปลี่ยนวิธีในการแก้ปัญหา

 

การแก้ปัญหาครั้งนี้ จะทำให้การบินไทยหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปเลย ไม่ใช่แค่ลดชั้นเป็นรัฐวิสาหกิจระดับ 3 เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวและลดทอนอำนาจของสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลง

 

ยันนายกฯหนุน ฟื้นฟูการบินไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ว่า การเพิ่มเงินจากการคํ้าประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง หรือหาเงินทุนเพื่อมาลงจะลำบาก จึงน่าจะเหลือการฟื้นฟูการบินไทยที่จะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างผู้บริหารการบินไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย คือ กระทรวงการคลัง ก็ต้องไปพูดคุยกันอีกที ซึ่งกระทรวงคมนาคมเพียงแต่เสนอเท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางรอด ‘การบินไทย’ ‘บรรยง’ แนะฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย

เปิดข้อเท็จจริง “การฟื้นฟูกิจการ" กับ "ล้มละลาย" ถนนคนสาย

ทริสเรทติ้ง หั่นอันดับเครดิต"การบินไทย" เป็น “BBB” แนวโน้มเครดิตพินิจเป็น "ลบ"

“นายกรัฐมนตรีมีความเห็นในทางเห็นด้วยที่จะให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุด ถ้าทุกคนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเราควรจะต้องทำ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง นายกฯก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี

ชู 2 ประเด็นถกคนร. แก้ปัญหาการบินไทย

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมคนร.วันที่ 18 พฤษภาคมนี้ จะหารือใน 2 ประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาการบินไทย คือ

 

1.ขอมติให้กระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทย ให้ตํ่ากว่า 50% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 51.03% แต่จะไม่ขายหุ้นให้เอกชน แต่ให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้น เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจตามคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารของผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงการคลัง จะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟู

 

2. การทบทวนแผนฟื้นฟูที่คนร.มีมติไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของแผนระยะเร่งด่วน ที่กระทรวงการคลัง จะคํ้าประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท สำหรับการเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 และการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการยกเลิกทั้งหมด เพื่อนำการบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของไทย

 

“หลังจากคนร.มีมติ กระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องเสนอครม.พิจารณาในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ซึ่งก็จะได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง”

 

ส่วนการฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย การบินไทย จะต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง แสดงองค์ประกอบว่ามีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งหลังเกิดโควิด คาดว่าการบินไทย จะมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และคาดว่าทุนจะติดลบ จากเมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท แต่อยากให้กิจการเดินได้ต่อไป จึงประสงค์ที่จะฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็จะเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณา ถ้าศาลรับไว้ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อไป โดยจะมีการเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูต่อศาล และศาลจะมีคำสั่งเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาผู้ทำแผนต่อไป

ฟื้นฟู "การบินไทย" ล้มเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน  เข้าแผนฟื้นกิจการตามกฎหมายล้มละลาย

“การบินไทยมีภาระหนี้สิน 2.4 แสนล้านบาท เป็นหนี้ในประเทศ 1.5 แสนล้านบาท เป็นหนี้เกี่ยวกับลีสซิ่งราว 1 แสนล้านบาท และมีเจ้าหนี้ในต่างประเทศเกือบ 50% อาทิ บริษัทลิสซิ่ง เจ้าหนี้การค้า อยู่ในกว่า 50 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการมองกันด้วยว่า นอกจากการยื่นฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายในไทยแล้ว การบินไทยจะต้องไปยื่นฟื้นฟูภายใต้ Chapter 11 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อกันไม่ให้เจ้าหนี้ไปใช้สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาล ที่อาจทำให้ถูกยึดสินทรัพย์และเครื่องบินจากเจ้าหนี้ในต่างประเทศได้”

 

ฟื้นฟู "การบินไทย" ล้มเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน  เข้าแผนฟื้นกิจการตามกฎหมายล้มละลาย

 

ทั้งนี้ข้อดีในการเข้าฟื้นฟูกิจการ ก็จะทำให้การบินไทยหยุดชำระหนี้ ที่อย่างน้อยก็ทำให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ในปีนี้ร่วม 4 หมื่นล้านบาทหยุดไป และในขณะนี้การบินไทยก็ไปเจรจายืดหนี้มาได้บางส่วน เพื่อรักษากระแสเงินสดในมือ ขยายระยะเวลาการปรับลดเงินเดือน 10-50% และค่าตอบแทนพนักงานออกไปอีก 1 รวมเป็นทั้งสิ้น 3 เดือน คือระหว่างวันที่ 4 เม.ย.-31 มิ.ย.2563 จากเดิมที่ได้ประกาศปรับลดเงินเดือนไปแล้วเป็นเวลา 2 เดือน คือระหว่างวันที่ 4 เม.ย.-31 พ.ค.2563 

 

และเตรียมกลับมาหารายได้ โดยจะกลับมาเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ 37 เส้นทางตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่ลดจำนวนเที่ยวบินจากปกติ ให้สอดคล้องกับการใช้บริการที่น้อยลงจากผลกระทบโควิด ซึ่งในขณะนี้เปิดให้สำรองที่นั่งเพียง 30% ของเที่ยวบิน

 

ด้านแหล่งข่าวจากศาลล้มละลายกลางกล่าวว่ากรณีที่การบินไทยระบุว่า มีเจ้าหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก และมีแนวคิดที่จะยื่นฟื้นฟูกิจการทั้งในสหรัฐ อเมริกาและไทยนั้น กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของไทยกำหนดสิทธิให้เจ้าหนี้ทุกประเทศสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ เพียงแต่เจ้าหนี้จะต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ให้ชัดเจนก่อน

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563