เชื่อมั้ย 5 เสือเอเย่นต์ตั๋วการบินไทย ไม่เคยกิน ค่าคอม 1.8 หมื่นล้าน

16 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค.63 โดย...พรานบุญ

          เรื่องราวของ “5 เสือ” เอเย่นต์ตั๋วบินไทยกับค่าคอมมิชชั่น หรือการให้อินเซ็นทีฟในด้านราคาแก่เอเย่นต์ปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ที่ “พรานบุญ” เขียนไปฉบับที่แล้ว และลงในเพจ-เว็ปต์ไซต์ฐานเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินในประเทศ ที่มีเอเย่นต์กว่า 200-300 ราย

          ร้อนฉ่าเสมือนประหนึ่งว่าไปเตะขุมทรัพย์ของใครบางคน

          เสือตัวแรกคือ เฮงเชียง ทัวร์ แอนด์ ทราเวิล เซอร์วิส มี “เสี่ยบี” บริหารจัดการเรื่องตั๋ว

          เสือตัวที่สอง รุ่งนิรันดร์ เอเย่นดังบางรัก มี “เสี่ยหมี” บริหารจัดการด้านเครือข่าย

          เสือตัวที่สาม มาแจ๊สติกแทรเวล อินเตอร์เนชั่นแนล  มีสองพี่น้อง “เสี่ยโอ๋แอนด์เสี่ยเอิร์ธ”เป็นผู้บริหารใหญ่

          เสือตัวที่สี่ต้องนี่ เถกิงทัวร์ ของคุณเถกิง สวัสดิพันธ์ แม้ปัจจุบันเฮียจะหันไปทำธุรกิจซื้อขายที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ทัวร์ต่างประเทศยังยิ่งใหญ่หาใครทาบติด

          เสือตัวที่ห้าเป็นขาใหญ่ เอส ที เดอลักซ์ ทัวร์ ของเฮียช้า ผู้มีคติช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

          5 เสือขาใหญ่เหล่านี้คือผู้ครองตลาด มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ Space Control ที่ทำหน้าที่ดูแลตั๋วที่นั่งในแต่ละเที่ยวบินมาอย่างยาวนาน อันนี้บิ๊กบินไทยควรไปดู

          ยักษ์ใหญ่ที่ป็นเอเย่นต์ที่ถูกกล่าวถึง 2 ราย ดาหน้าชี้แจงมาพึ่บพั่บ

          สุรศักดิ์  บุญญนันท์กิจ หรือ “เฮียช้า” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสที เดอลุกซ์ ทัวร์ จำกัด บอกว่า “เรื่อง 5 เสือเอเย่นต์ ผมว่า มันเป็นเรื่อง 5 เสือตกยุคมากกว่า จริงๆ แล้วทั้ง 5 บริษัทนี้ มียอดขายตั๋วไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อปีด้วยซ้ำ ทั้งไม่ได้จัดอยู่ในระดับท็อปที่ขายโฮลเซลล์ด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกผมจะไปชี้ทิศทางผู้บริหารการบินไทย เพียงแต่อาจรู้จักผู้บริหาร ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะขายตั่วมาหลายสิบปีมาก”

          “ผมยืนยันได้เอเย่นต์ทุกคนที่ขายตั๋วให้การบินไทย ไม่ได้รับค่าคอมมิชั่นจากการบินไทย แต่เอเย่นต์ จะได้ราคาเน็ทจากการบินไทยมาทุกเอเย่นต์ได้เท่ากัน และเอเย่นต์จะนำไปบวกค่าบริการกับลูกค้าที่มาซื้อตั๋วกับเราเท่านั้น และก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร เพราะมีเอเย่นต์กว่า 300 บริษัทขายตั๋วให้การบินไทย ผมพร้อมให้เข้ามาตรวจสอบบัญชีได้เลย ถ้าใครบอกว่าผมได้คอมมิชชั่นจากการบินไทย” เฮียช้ายืนยัน

          ขณะที่ บริษัท รุ่งนิรันดร์ ทัวร์ ที่มี “เสี่ยหมี” บริหารอยู่ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ระบุว่า การให้คอมมิชชั่นเอเยนต์ปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท คือหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การบินไทยมีปัญหาทางด้านการเงิน โดยมีผมเป็นหนึ่งใน "5 เสือ" เอเยนต์ตั๋วบินไทยด้วยนั้น ผมขอชี้แจงว่า เดิมเอเย่นต์ได้คอมมิชชั่นจากหน้าตั๋ว 9% ต่อมามีการปรับลดเหลือ 7% ในปี 2000 และ 0% ในปี 2008 เอเยนต์ทั้งหมดในประเทศไทยจะมีรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินโดยคิดค่าบริการเพิ่มจากราคาตั๋วที่การบินไทยตั้งไว้เท่านั้น

          ในปี 2019 การบินไทยมียอดขายทั่วโลก 1.3 แสนล้านบาท เป็นยอดขายของประเทศไทยแค่ 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยอดขายผ่านเอเยนต์ 1.6 หมื่นล้านบาท ยอดขายผ่าน Web การบินไทย 9 พันล้านบาท และยอดขายผ่านสำนักงานการบินไทย 6 พันล้านบาท

          ค่าคอมมิชชั่นเอเยนต์ที่อ้างถึง 1.8 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะสูงกว่ายอดขายผ่านเอเยนต์ทั้งหมดที่ 1.6 หมื่นล้านบาทเสียอีก

          นอกจากนี้ ผมซึ่งเป็น 1 ใน 5 เสือขาใหญ่ที่พาดพิงถึงนั้น มียอดขายในอันดับ 33 ผมไม่รู้ว่าเอเย่นต์รายเล็กอันดับ 33 นี้ เหตุใดจึงได้รับเกียรติเป็น 1 ใน 5 เสือขาใหญ่กับเขาด้วย จึงขอให้ช่วยบอกเรื่องราวนี้ออกไป เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ

          พรานฯ นำคำชี้แจงมาบอกกล่าวให้ทราบ แต่จะเชื่อไม่เชื่อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในบัญชีการเงินของการบินไทยนั้น พบว่า มีการจ่ายค่าคอม ค่าการตลาด ค่าอินเซนทีพ ราคาส่วนลดกันสนั่น 1.8 หมื่นล้านบาท ขอรับนายท่าน...

          พรานฯ พามาดูธุรกิจเอเย่นต์ขายตั๋งโดยสารเครื่องบินที่มีคนอยากเป็นเย่นต์กันมากทั้งๆ ที่เขาบอกว่าไม่มีค่าคอมฯ มันเป็นเช่นไร ในสมัยหนึ่งขาใหญ่แต่ละคนอยากได้มาถือไว้ในมือจากฝ่ายขายที่ “สีลม-หลานหลวง”คือ “แฟร์ ชีต” จากการบินไทยที่ออกมาว่าจะเปิดขายตั๋วเท่าใด แต่ตอนนี้มีการแจ้งผ่านอิเลคทรอนิกส์ไปแล้ว

          แต่แม้ทุกคนจะรู้แต่ไม่ได้ตั๋วทุกคน เพราะตั๋วถูกจัดสรรที่นั่งให้กับขาใหญ่ไปบวกราคาตั๋วที่ในระบบบอกว่า “Net Price” และมีการระบุโดยองค์กรหนึ่งให้เป็นราคาแนะนำ “Recommend Price to Agent” ว่าบวกราคาได้ 500-1,000 บาท

          และขาใหญ่เหล่านี้แหละที่ผูกขาติดอยู่กับ “เซลส์สีลม-มาร์เก็ตติ้งที่หลานหลวง” ร่วมกับ “Space Control” คอยจัดสรรที่นั่งให้เป็น “กรณีพิเศษ”ชนิดที่เอเย่นต์อื่นไม่มีสิทธิ์รอเพียงแค่การคายตั๋วออกมา

          พรานฯ จะบอกให้ว่า คุณคิดว่าเอเย่นต์จะบวกแค่ 500-1,000 บาทจริงหรือ เพราะนี่คือการเปิดทางให้บวกราคาเพิ่มที่ทำให้ตั๋วการบินไทยหาซื้อไม่ได้และราคาแพงแสนแพง และแพงกว่าตั๋วโดยสารของสายการบินอื่น...

          นี่คือต้นตอของความแค้นเคืองของคนไทย ที่ตั้งคำถามว่าทำไมตั๋วแพงแสนแพง ซื้อหาไม่ได้แต่ที่นั่งว่างเปล่า

          เพราะมีขบวนการเหล่านี้อยู่ “เสี่ยปู-กรกฎ ชาตะสิงห์”ผู้อำนวยการฝ่ายขาย-ประเทศไทย บริษัท การบินไทย ที่คุมอยู่ในปัจจุบันจะรู้ไม่รู้ พรานมิอาจทราบ แต่อีเห็น นกตะกรุม นังบ่างเขารับรู้กันอยู่เต็มอก

          ประการต่อมาพรานฯนี่แปลกประหลาดใจ เขียนถึง 5 เสือกับค่าคอมจากการขายตั๋วโดยสารปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ดันมีแถลงการณ์ออกมาจากสมาคมผู้จำหน่ายตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศ (ไอทีเอ) เสมือนประหนึ่งว่า เขียนทำลายสมาคมฯ

          สมาคมที่ว่านี้ มี ชรินทร์ นุกรณ์นวรัตน์ ประธานบริษัท บริษัท โกลเบิลยูเนี่ยน เอกซ์เพรส จำกัด เป็นนายกสมาคม เขาชี้แจงมาดังนี้เรื่องค่าคอมมิชชั่นของผู้แทนจําหน่ายตั๋วเครื่องบินของการบินไทยนั้นเป็นเรื่องไม่เป็นความจริง และกระทบต่อชื่อเสียงของสมาชิกสมาคมผู้แทนจําหน่ายตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศโดยรวม

          เอเย่นต์ที่ขายตั๋วระหว่างประเทศได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ที่เรียกย่อว่า IATA ซึ่งสายการบินเกือบทุกสายทั่วโลกต้องเป็นสมาชิกด้วย อันนี้พรานฯ ทราบและรับรู้แถมเขียนไปนะว่า ต้องวางทรัพย์ 2 ล้านบาท ในการขายตั๋ว แต่กว่าจะได้ตั๋วต้องรอขาใหญ่และฝ่ายขายการบินไทยคายตั๋วออกมา และชำระเงินผ่าน Amadeus, Sabre และ Galileo อันนี้พรานฯ รู้

          สมาคมฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเอเย่นต์บอกว่า ช่องทางการขายผ่านเอเย่นต์ของการบินไทยตามที่มีผู้ให้ตัวเลขในสื่อต่างๆ ไปแล้วนั้น คือ ประมาณ 50% ของยอดขายที่ประมาณตัวเลขไว้ 30,000 ล้านบาทในปี 2562 นี้ ก็เข้าใจได้ว่าผู้เดินทางในประเทศไทยยังนิยมซื้อตั๋วผ่านเอเย่นต์ ซึ่งให้บริการลูกค้าได้มากกว่า

          เช่น บริการจัดทําวีซ่า จองโรงแรม หารถเช่า จัดทัวร์ และบริการอื่นๆ ที่ระบบออนไลน์และสายการบิน เองทําไม่ได้ เอเย่นต์ต้องเสริมบริการให้ลูกค้าอย่างเต็มที่ แต่แน่นอนในอนาคตการขายผ่านเอเย่นต์คงจะลดน้อยลง และการขาย ออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งตามการพัฒนาของสังคมโลก เอเย่นต์จริงๆ แล้วก็ต้องพยายามเพิ่มศักยภาพทางออนไลน์เอง เพื่อจะให้อยู่รอดเหมือนกัน

          ปัจจุบันเอเย่นต์ขายตั๋วเครื่องบินไม่ได้รับค่าตอบแทนจากสายการบินเลย ราคาตัวในปัจจุบันของ การบินไทยคือ 0% Commission ค่าตอบแทนของเอเย่นต์ คือค่าบริการบวกเพิ่มจากค่าตัวนิดหน่อยเก็บจากลูกค้าโดยเฉลี่ย 100-1000 บาท แล้วแต่จํานวนเงินมากน้อยของค่าตั๋วเครื่องบิน หรือจะตกอยู่แค่ 1-29% และขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละรายจะยอมรับและให้ค่าบริการนี้หรือไม่

          การบินไทยไม่เคยให้สิทธิ หรือราคาพิเศษกับเอเย่นต์ไหนเป็นการเฉพาะ ถ้ามีก็ให้เพื่อการโปรโมทเส้นทางใหม่ หรือเส้นทางที่มีที่นั่งว่างอยู่มาก การบินไทยก็จะให้ราคาพิเศษแต่ให้กับหลายๆ เอเย่นต์พร้อมกันไม่มีการผูกขาด เส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเลย การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจถ้ามีข่าวทําอะไรเป็นการผูกขาดการขาย จะถูกตรวจสอบและลงโทษได้ จากหน่วยงานของรัฐบาลและรัฐสภาโดยทันที...นังบ่างถามว่าจริงรึ!

          สมาคมเอเย่นต์ของเฮียชรินทร์ฯ บอกว่า ฉะนั้นข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจึงไม่เป็นความจริง เรื่องเอเย่นต์ 5 เสือได้ค่าคอมมิสชั่นจากการขายตัวการบินไทย เอเย่นต์อื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมก็ไม่ได้มียอดขายมากเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน มียอดเป็นพันล้านก็ยังหายากมาก มียอดขายต่อปีเพียงยอดเป็นสิบเป็นร้อยล้านเท่า นั่นรวมทุกสายการบิน

          คุณเชื่อมั้ย...และคุณเชื่อใคร...และควรตั้งคำถามว่าทำไม 5 เสือ สมาคมจึงออกมาชี้แจง ทั้งๆ ที่พรานไม่ได้ระบุสมาคมเอเย่นต์สักคำ ...มันต้องมีอะไรในกอไผ่