การสร้างความสอดคล้อง  ของธุรกิจครอบครัว (1)

20 พ.ค. 2563 | 03:31 น.

บิสิเนส  แบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

([email protected])

 

ความสอดคล้องทางทัศนคติ (attitude alignment) ว่าเป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนความคิดเห็นของคนหนึ่งให้เห็นด้วยกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เมื่อแต่ละฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นให้ตรงกับคนในกลุ่ม สำหรับในธุรกิจครอบครัวนั้นเราเชื่อกันว่าค่านิยมร่วม วิสัยทัศน์และวัฒนธรรมเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ แต่จากการวิจัยของ Deloitte แสดงให้เห็นว่ามีความสอดคล้องน้อยในธุรกิจครอบครัว Deloitte ทำสำรวจในปีค.. 2019 พบว่ามีเพียง 35% ของผู้ถูกสำรวจที่บอกว่าวัตถุประสงค์ของบริษัทสอดคล้องกับเป้าหมายของครอบครัว การขาดความสอดคล้องระหว่างบุคคลและธุรกิจอาจเป็นอุปสรรคต่อผลการดำเนินงาน การเติบโตและอายุที่ยืนยาวของกิจการได้เลยทีเดียว

การสร้างความสอดคล้อง  ของธุรกิจครอบครัว (1)

 

ปัญหาที่พบคือการตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวมักขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง นอกเหนือความสำเร็จทางการเงิน ธุรกิจเหล่านี้ยังตัดสินใจโดยคำนึงถึงมรดกของครอบครัวและอิทธิพลนั้นยังคงมีผลต่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสอดคล้องของครอบครัวและกลยุทธ์ธุรกิจคือการหลีกเลี่ยงการสื่อสาร เนื่องจากธุรกิจครอบครัวหลายแห่งไม่พร้อมสำหรับการสนทนาที่ยากลำบาก หรือหลีกเลี่ยงการพูดคุยกันโดยสิ้นเชิง โดยการสนทนาบ่อยครั้งของครอบครัวเกี่ยวข้องกับการยอมรับความเสี่ยง

 

ทั้งนี้จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกของ Deloitte ระบุว่าบางบริษัทมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง จึงทำให้บริษัทเหล่านั้นไม่เต็มใจที่จะสร้างนวัตกรรมเพราะกลัวผลลัพธ์เชิงลบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลดความมั่งคั่งในครอบ ครัว เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เป้าหมายของครอบครัวอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท คือการให้คุณค่ากับคำแนะนำจากบุคคลที่ 3 แม้ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากสามารถดำเนินกิจการมานานหลายทศวรรษ โดยไม่ต้องพึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาเลย จึงไม่เห็นความสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามมุมมองของคณะกรรมการจากภายนอกเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทวางแผนการถ่ายโอนกิจการที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย โดยมุมมองจากบุคคลที่ 3 สามารถช่วยทำให้ผู้ก่อตั้งและเจ้าของกิจการเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับผู้สืบทอดในอนาคต ซึ่งการที่ผู้นำรุ่นต่อไปมีงานที่หนักหนารออยู่และคณะกรรมการที่ปรึกษาสามารถช่วยเหลือได้ในเรื่องที่ผู้ก่อตั้งไม่เคยทำเมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัท เพราะเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาสืบทอดธุรกิจต้องเผชิญกับแนวการแข่งขันใหม่ๆ ลูกค้านานาประเทศ ซัพพลายเชนข้ามชาติและความเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พวกเขาจึงต้องการการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 21-22  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม  2563