เตือน 30 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วม เร่งเตรียมแผนรับมือ

15 พ.ค. 2563 | 05:30 น.

สทนช.เปิดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมกว่า 30 จังหวัด รับฝนเริ่มตกชุกตั้งแต่ เดือน พ.ค.-ต.ค. พร้อมเตรียมเก็บน้ำเข้าเขื่อนให้มากที่สุดหลัง 29 เขื่อนน้ำน้อยยังรับได้อีกอื้อ ขณะเตรียมนัดหารือกทม.และปริมณฑลผุดแผนป้องกันน้ำท่วมขังซ้ำซาก 

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในช่วงระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคมนี้ ซึ่งในภาพรวมปริมาณฝนในปี 2563 จะมากกว่าในปีที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ทางกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2563 เพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติจริงจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)และในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงต้นฤดูฝนจะสำรองน้ำให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 29 แห่ง จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมปีนี้ปริมาณน้ำฝนค่าเฉลี่ยมากกว่าปี 2562 ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนจะยังมีปริมาณน้อย แต่จะเริ่มมีมากตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคม

เตือน 30 จังหวัด  เสี่ยงน้ำท่วม  เร่งเตรียมแผนรับมือ

                         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

“ปีนี้สถานการณ์ไม่น่าห่วง เขื่อนยังมีช่องว่างในการรับน้ำมาก แต่ที่สำคัญก็คือ กรุงเทพและปริมณฑล ฝนตกควรจะมีระบบระบายน้ำที่ดี ซึ่งจะเชิญ กทม. พร้อมกับจังหวัดที่อยู่รายรอบ อาทิ นนทบุรี,สมุทรปราการ และปทุมธานี เป็นต้น มาหารือเพื่อเตรียมการรับมือในเรื่องการระบายน้ำที่อาจติดขัดจากขยะหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ  เพราะต้องอาศัยจังหวัดรายรอบนี้ระบายน้ำออกไปด้วย”

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในปี 2563  มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตั้งแต่พฤษภาคมถึงตุลาคม กว่า 30 จังหวัด โดยเดือนพฤษภาคม ได้แก่  จันทบุรี, ตราด, พังงา, สุราษฎร์ธานี  เดือนมิถุนายน ได้แก่ นครพนม,ระยอง, เพชรบุรี,ระนอง, พังงา, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี เดือนกรกฎาคม ได้แก่ นครพนม,  ระยอง,จันทบุรี,ระนอง,ชุมพร,พังงา,กระบี่,ภูเก็ต,สุราษฎร์ธานี ซึ่งในเดือนนี้คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเริ่มสูงขึ้น

เตือน 30 จังหวัด  เสี่ยงน้ำท่วม  เร่งเตรียมแผนรับมือ

ส่วนเดือนสิงหาคม ได้แก่ เชียงใหม่,เชียงราย,หนองคาย,อุดรธานี,บึงกาฬ,สกลนคร,นครพนม,นครนายก,ปราจีนบุรี,ระยอง ,จันทบุรี,ระนอง,ชุมพร,สุราษฎร์ธานี, พังงา ,กระบี่, ภูเก็ต เดือนกันยายน ได้แก่ สระบุรี, ปทุมธานี, กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ, นครราชสีมา, นครนายก, ฉะเชิงเทรา ,ปราจีนบุรี, จันทบุรี, ระยอง,ระนอง, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี,พังงา, กระบี่, ตรัง ,สตูล  และเดือนตุลาคม มีเพียงกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ ส่วนพายุคาดว่าจะเข้ามาไทยประมาณ 1-2 ลูก ช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

ด้านแหล่งข่าวจังหวัดกรุงเทพมหานคร เผยว่า พื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง อาทิ  1.ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร 2.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ 3.ถนนพหลโยธินช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร 4.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน 5.ถนนราชวิถีช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน 6.ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 7.ถนนศรีอยุธยาช่วงหน้า สน.พญาไท

8.ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล-ไปรษณีย์ยานนาวา 9.ถนนสวนพลูจากถนนสาทรใต้-ถนนนางลิ้นจี่ 10.ถนนสาธุประดิษฐ์บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ 11.ถนนสุวินทวงศ์ช่วงจากคลองสามวา-คลองแสนแสบ 12.ถนนเพชรเกษมจากคลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี 13.ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ และ 14.ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2-ถนนบางขุนเทียนชายทะเล เป็นต้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3574 วันที่ 14-16 พฤษภาคม 2563