New Normal ในตลาดน้ำมันโลก

15 พ.ค. 2563 | 08:30 น.

โดย มนูญ  ศิริวรรณ  กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว จากการที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย และแม้แต่บางมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ให้ผู้คนได้ออกมาเดินทาง และธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการน้ำมันที่สูงขึ้น

ในขณะเดียวกันกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ยังได้เริ่มต้นลดการผลิตอย่างจริงจังตามข้อตกลงลดการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

อีกทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆนอกกลุ่ม OPEC+ เช่นสหรัฐฯ นอร์เวย์ แคนาดา และบราซิล ฯลฯ ต่างก็ต้องลดการผลิตลงโดยสมัครใจ เพราะราคาน้ำมันที่ 20+ $/bbl. เป็นราคาที่ไม่คุ้มทุนสำหรับบริษัทเอกชนในประเทศเหล่านี้ ที่จะผลิตน้ำมันออกมาในปริมาณมาก ๆ อีกต่อไป

เราจึงเห็นราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม เพราะนักค้าน้ำมันและผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ล้วนคาดหวังว่า ความต้องการน้ำมันจะสูงขึ้น ในขณะที่การจัดหาเริ่มลดลง

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง ตลาดน้ำมันโลกจะกลับมาเหมือนเดิม คือ ความต้องการน้ำมันจะกลับไปที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และราคาน้ำมันจะกลับไปที่ 60-70 $/bbl.

องค์การพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่า ความต้องการน้ำมันในปีนี้อาจลดลงจากปีที่แล้วมากถึง 10 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 10% โดยลดลงในเดือนเมษายนประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือนพฤษภาคมลดลง 25.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือนมิถุนายนลดลง 14.6 และแม้กระทั่งเดือนธันวาคมก็จะยังคงลดลง 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

New Normal ในตลาดน้ำมันโลก

นักวิเคราะห์บางคนก็ประเมินว่าการที่ความต้องการน้ำมันของโลกจะกลับไปเหมือนเดิมนั้น น่าจะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น บางคนที่มองในแง่ร้ายถึงกับบอกว่าต้องใช้เวลาหลายสิบปีไม่ใช่หลายปี และบางคนบอกว่าจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว

สาเหตุที่นักวิเคราะห์มองไปในแง่ร้ายเช่นนั้นก็มาจากเหตุผลที่ว่า ธุรกิจการบินซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย CEO ของบริษัท Boeing คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศจะไม่กลับมาสู่ระดับเดียวกับปีค.ศ. 2019 จนกว่าจะผ่านไปอย่างน้อย 3 ปี และเมื่อการเดินทางกลับมาอีกครั้งสายการบินก็จะใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมันในการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ยอดการใช้น้ำมันเครื่องบินจะไม่กลับมาสู่ระดับเดิมจนกว่าจะถึงปีค.ศ. 2022 

นอกจากนั้น การใช้ชีวิตของผู้คน (Life Style) ก็จะไม่เหมือนเดิม ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน เนื่องจากเราจะคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน สั่งอาหารและช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น เดินทางน้อยลง ใช้การประชุมโดยระบบ teleconferencing มากขึ้น ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ใช้น้ำมันน้อยลง

วิถีใหม่ของการดำรงชีวิตและการทำงาน (new ways of living and working) จะทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเบนซินที่เคยทำกำไรที่ดีให้กับธุรกิจน้ำมันทั้งกลางน้ำ (โรงกลั่น)และปลายน้ำ (การตลาด) ส่งผลให้ธุรกิจน้ำมันจะมีโครงสร้างพื้นฐาน คือ บ่อน้ำมัน เรือบรรทุกน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันมากเกินไป 

ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่ เพื่อรองรับ New Normal ที่กำลังคืบคลานมา !!! 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3574 วันที่ 14-16 พฤษภาคม 2563