สุขภาพหรือการเมือง กดดันผอ. WTO ชิงลาออกก่อนครบวาระ

15 พ.ค. 2563 | 04:00 น.

ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) อ้างปัญหาสุขภาพส่วนตัว ลาออกก่อนครบวาระ 1 ปี ท่ามกลางภาวะความปั่นป่วนของการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 และแรงกดดันจากชาติสมาชิก อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อียู ที่อยากเห็นการปฏิรูป WTO อาจเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลัง

 

นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO แถลงที่สำนักงานใหญ่ ในนครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วานนี้ (14 พ.ค.) ว่า เขาขอลาออกจากตำแหน่ง โดยจะมีผลวันที่ 31 ส.ค. นี้ เท่ากับเป็นการออกจากตำแหน่ง 1 ปีก่อนครบวาระดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 หลังจากที่เขาเข้ามากุมบังเหียน WTO เมื่อปี 2556

นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO

"เดือนส.ค.นี้ จะเป็นการครบรอบการทำงาน 7 ปีของผมในฐานะผู้อำนวยการ WTO และผมตัดสินใจว่าจะลงจากตำแหน่งในวันที่ 31 ส.ค. นี้ โดยเป็นการลงจากตำแหน่งก่อนครบวาระ 1 ปี" นายอาเซเวโดให้เหตุผลการลาออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ว่า มาจากเรื่องสุขภาพ ซึ่งเขาได้ปรึกษากับครอบครัวแล้ว และไม่ได้ลาออกเพื่อจะไปเล่นการเมืองแต่อย่างใด

 

"นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของผม ในช่วงระหว่างการล็อกดาวน์และการผ่าตัดเข่าของผมเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมมีเวลาคิดทบทวนมากกว่าปกติ และหลังจากปรึกษากับครอบครัวแล้ว รวมถึงภรรยาที่อยู่ในเจนีวา ลูกสาวและมารดาของผมที่อยู่ในกรุงบราซิเลีย ผมจึงตัดสินใจลาออก และเชื่อว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย" นายอาเซเวโด ซึ่งเป็นอดีตทูตบราซิล ย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็น"เหตุผลส่วนตัว" เกี่ยวกับสุขภาพ และ “เหตุผลด้านครอบครัว” ไม่ได้มีเป้าหมายอย่างอื่น

"ผมไม่ว่าอะไรถ้านายอาเซเวโดจะลาออก"

แรงกดดันต่อเนื่องจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก WTO เผชิญข้อขัดแย้งหลายครั้งกับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเกิดขึ้นในช่วงที่การค้าโลกกำลังปั่นป่วนจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

ที่ผ่านมา WTO ในยุคของนายอาเซเวโดถูกรัฐบาลของนายทรัมป์โจมตีเป็นประจำ โดยมักวิจารณ์องค์กรนี้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการทำงานที่ล้มเหลวและกล่าวโทษ WTO ว่าเปิดทางให้จีนทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

 

“องค์กรอย่าง WTO อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีความจำเป็นอย่างที่จะขาดไม่ได้ WTO เป็นสิ่งที่ทำให้โลกไม่ต้องอยู่ในภาวะที่ไร้กฎกติกา อย่างน้อยก็ในเรื่องของการค้าขายระหว่างประเทศ” นายอาเซเวโดเคยกล่าวไว้เมื่อครั้งถูกประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ต่อว่าต่อขาน ว่า WTO ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองและปล่อยให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิกในปี 2001 (พ.ศ. 2544) ซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันต้องตกงานนับล้านคน

 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมื่อมีการสอบถามไปยังประธานาธิบดีทรัมป์ว่ารู้สึกอย่างไรกับการลาออกก่อนกำหนดของผู้อำนวยการ WTO คนนี้ ผู้นำสหรัฐฯซึ่งเคยขู่ว่าจะลาออกจากการเป็นสมาชิก WTO ให้ความเห็นว่า เขาไม่ว่าอะไรถ้านายอาเซเวโดจะลาออก เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมมานานแล้ว “WTO ปฏิบัติต่อจีนเหมือนเป็นประเทศกำลังพัฒนา จีนก็เลยได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมายอย่างที่สหรัฐฯ ไม่เคยได้” เป็นความเห็นของทรัมป์

อ่านเพิ่มเติม WTO คาดค้าโลกฟื้นตัวปี 64 “โควิด-ปล่อยสินเชื่อ”ปัจจัยเสี่ยง

ชาติสมาชิกเรียกร้องการปฏิรูปให้ทันโลก

เมื่อปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและ WTO ส่งผลให้การแต่งตั้งตุลาการในคณะอนุญาโตตุลาการที่จะตัดสินข้อพิพาทของสมาชิก WTO เกิดความล่าช้า นอกจากสหรัฐฯ แล้วยังมีอีกหลายชาติสมาชิก WTO รวมทั้งญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ที่พยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในองค์กรการค้าดังกล่าวนี้ โดยระบุว่า กฎกติกาการค้าของ WTO ควรจะสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่น สถานะของจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป WTO จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะจัดการกับปัญหาของจีนที่ทำให้เกิดการบิดเบือนทางการค้า เช่นการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ และการบังคับให้บริษัทต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หุ้นส่วนท้องถิ่นของจีน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ กระบวนการแต่งตั้งผู้อำนวยการ WTO คนใหม่อาจยืดเยื้อไปถึงปีหน้า (2564) หาก WTO แต่งตั้งหนึ่งในคณะกรรมการอาวุโสชุดปัจจุบันมานั่งรักษาการผู้อำนวยการแทนนายอาเซเวโด

 

การลาออกของผู้อำนวยการ WTO ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความยากลำบากในแวดวงการค้าโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่กระจายโรคอย่างเข้มงวด ที่รู้จักกันในนาม “มาตรการล็อกดาวน์” ทำให้อุปสงค์ทั่วโลกลดวูบลง

 

WTO คาดการณ์ว่า ปริมาณการค้าโลกจะหดตัวลง 13-32% ในปีนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตทั่วโลก โดยในรายงานสถิติและแนวโน้มการค้าประจำปีของดับบลิวทีโอ ระบุว่า ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อปริมาณการค้าโลกในปีนี้ จะมีความรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินทั่วโลกในปี 2551-2552

 

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวในปีหน้ายังไม่มีความชัดเจนเพราะจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการแพร่ระบาด และประสิทธิภาพของนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้ ทำให้ WTO ต้องออกมาเรียกร้องขอให้ทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อที่จะช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าการที่แต่ละประเทศดำเนินการแต่เพียงลำพัง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 

Coronavirus: WTO head steps down a year early as downturn looms