เร่งสรุปแผนจ้างงานธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว เข้าครม.อังคารหน้า

14 พ.ค. 2563 | 12:08 น.

สมคิด สั่งเร่งสรุปแผนจ้างงานธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยวเข้าครม.อังคารหน้า ด้านอุตตม เผย กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กไม่เกิน 100,000 ล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)และปลัดกระทรวงการคลัง เร่งสรุปแผนการดูแลภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงจ้างงาน เช่น ธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะต้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  เพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาวันอังคารหน้า 

ทั้งนี้ให้สรุปแผนการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้มากที่สุด และให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

เร่งสรุปแผนจ้างงานธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว เข้าครม.อังคารหน้า

 

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จัดทำโครงการสร้างงานในพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่างๆ มีรายได้จากการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนขนาดเล็ก ทั้งนี้ ได้ให้ทุกฝ่ายเร่งเสนอข่าวสารให้ทุกฝ่ายรับทราบว่าจะมีอะไรบ้าง และรายละเอียดๆต่าง เพื่อให้เสนอโครงการ เช่น การช่วยการจ้างงาน การสร้างได้ท้องถิ่น

เร่งสรุปแผนจ้างงานธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว เข้าครม.อังคารหน้า

สำหรับโครงการนี้ จะต้องสามารถสร้างงานได้ เพราะข้างหน้าจะมีคนตกงานค่อนข้างมาก และจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยได้มอบหมายให้เลขา สศช.ไปพิจารณาเนื่องจากกระทรวงจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการกลั่นกรอง

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเป็นกลุ่มเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมแนวทางการช่วยเหลือ ในกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 35-36 ล้านคน จากกลุ่มประกันสังคม กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ และกลุ่มเกษตรกร โดยให้ สศค.ไปพิจารณาถึงแนวทาง เงื่อนไข และขั้นตอนในการช่วยเหลือดังกล่าว แต่ในเบื้องต้น คาดว่าขนาดกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก จะไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบจากพรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วน 400,000 ล้านบาท

เร่งสรุปแผนจ้างงานธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว เข้าครม.อังคารหน้า

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รักษาจำนวนพนักงาน การจ้างงาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นพ.ค. นี้ ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวจะรวมถึงผู้ประกอบการสายการบิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวด้วย

“สายการบินเราก็ต้องดูแลเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แต่เงื่อนไขและแนวทางในการช่วยเหลืออย่างไรต้องรอให้ศึกษาให้แล้วเสร็จก่อน แต่ที่ผ่านมาเราใช้มาตรการภาษีช่วยเหลือไปเยอะแล้ว ดังนั้นอาจเป็นแนวทางการช่วยเหลืออื่น”นายอุตตม กล่าว

ส่วนข้อเสนอของนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้กู้เงินเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท เพราะเกรงว่า 1 ล้านล้านบาทจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตินั้น นายอุตตม ระบุว่า เป็นเพียงข้อเสนอของนายธนินทร์ เท่านั้น แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังยังเชื่อว่าวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอยู่