“5 เสือ” เอเย่นต์ตั๋วการบินไทย แจงไม่เคยกินค่าคอม 1.8 หมื่นล้าน

14 พ.ค. 2563 | 09:16 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 14 พ.ค.63 โดย... พรานบุญ

 

 

เรื่องราวของ “5 เสือ” เอเย่นต์ตั๋วบินไทย กับค่าคอมมิชชั่นหรือการให้อินเซ็นทีฟในด้านราคาแก่เอเย่นต์ปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ที่ “พรานบุญ” คอลัมนิสต์ของฐานเศรษฐกิจเขียนและลงในเพจ-เว็ปไซต์ฐานเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินในประเทศที่มีเอเย่นต์กว่า 200-300 ราย

ยักษ์ใหญ่ที่ป็นเอเย่นต์ที่ถูกกล่าวถึง 2 ราย ชี้แจงมาดังนี้

นายสุรศักดิ์ บุญญนันท์กิจ หรือ “เฮียช้า” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสที เดอลุกซ์ ทัวร์ จำกัด กล่าวว่า เรื่อง 5 เสือเอเย่นต์ ผมว่า มันเป็นเรื่อง 5 เสือตกยุคมากกว่า จริงๆ แล้วทั้ง 5 บริษัทนี้ มียอดขายตั๋วไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อปีด้วยซ้ำ ทั้งไม่ได้จัดอยู่ในระดับท็อปที่ขายโฮลเซลล์ด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกผมจะไปชี้ทิศทางผู้บริหารการบินไทย เพียงแต่อาจรู้จักผู้บริหาร ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะขายตั๋วมาหลายสิบปีมาก

“ผมยืนยันได้เอเย่นต์ทุกคนที่ขายตั๋วให้การบินไทย ไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการบินไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะการบินไทยมีนโยบาย  Zero Commission  แต่เอเย่นต์ จะได้ราคาเน็ทจากการบินไทยมาทุกเอเย่นต์ได้เท่ากัน และเอเย่นต์จะนำไปบวกค่าบริการกับลูกค้าที่มาซื้อตั๋วกับเราเท่านั้น ซึ่งเราก็เหมือนกับเป็นลูกค้าของการบินไทย และก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร เพราะมีเอเย่นต์กว่า 300 บริษัทขายตั๋วให้การบินไทย ผมพร้อมให้เข้ามาตรวจสอบบัญชีได้เลย ถ้าใครบอกว่าผมได้คอมมิชชั่นจากการบินไทย” เฮียช้ากล่าวยืนยัน

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการพูดถึงค่าคอมมิชชั่น มักไม่มีการแยกแยะว่าเอเย่นต์ไทยหรือเอเย่นต์ในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เอเย่นต์ไทย ไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่นกับการบินไทยมาหลายสิบปีแล้ว แต่สำหรับเอเย่นต์ในต่างประเทศ การบินไทยก็ต้องจ่ายค่าจ้างตัวแทนขายในต่างประเทศ ก็พอทราบมาว่ามีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือให้อินเซ็นทีฟบ้าง เพื่อกระตุ้นให้ขายตั๋วเข้ามาเมืองไทย ก็คล้ายกับสายการบินจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทย ก็ให้อินเซ็นทีฟกับเอเย่นต์เพื่อกระตุ้นยอดขาย

จึงอยากให้มีการแยกแยะด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยให้ความสำคัญกับเอเย่นต์เมืองนอกมาก เวลาขายตั๋วเอเย่นต์ไทยต้องวางมัดจำล่วงหน้า หรือคอนมิชชั่นมากมาย บางทีจะขอที่นั่งเพิ่ม เพื่อนำไปขาย ก็ไม่ได้ที่นั่ง เพราะการบินไทยจะให้เอเย่นต์จากต่างประเทศก่อน มักจะปล่อยที่นั่งออกมาตอนใกล้ๆ ซึ่งขายไม่ทัน ทำให้ลูกค้าของเราเองพอขึ้นเครื่องบินจึงเห็นว่าเครื่องว่าง

ขณะที่ บริษัท รุ่งนิรันดร์ ทัวร์ ที่มี “เสี่ยหมี” บริหารอยู่ชี้แจงว่า ตามที่มีบทความจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงวันที่ 12 พฤษภาคม ได้ระบุว่า การให้คอมมิชชั่นเอเยนต์ปีละ 18 พันล้านบาท คือหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การบินไทยมีปัญหาทางด้านการเงิน โดยผมเป็นหนึ่งใน "5 เสือ" เอเยนต์ตั๋วบินไทยด้วยนั้น ผมขอชี้แจงดังนี้

เดิมเอเย่นต์ได้คอมมิชชั่นจากหน้าตั๋ว 9% ต่อมามีการปรับลดเหลือ 7% ในปี 2000 และ 0% ในปี 2008 ภายใต้นโยบาย Zero Commission นั้น เอเย่นต์ทั้งหมดในประเทศไทยจะมีรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบิน โดยคิดค่าบริการเพิ่มจากราคาตั๋วที่การบินไทยตั้งไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ ในปี 2019 การบินไทยมียอดขายทั่วโลกประมาณ 130 พันล้านบาท คิดเป็นยอดขายของประเทศไทยประมาณ 31 พันล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยอดขายผ่านเอเย่นต์ 16 พันล้านบาท (52%) ยอดขายผ่าน Web การบินไทย 9 พันล้านบาท (29%) และยอดขายผ่านสำนักงานการบินไทย 6 พันล้านบาท (19%)

 

 

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ทำให้ผมตั้งขอสังเกตว่า บทความนี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เนื่องจาก

1) การขายตั๋วโดยการบินไทยเองที่อ้างถึง 30% นั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีสัดส่วนขายโดยการบินไทยเอง 48% (ผ่านเว็บ 29% และผ่านสำนักงานขาย 19%)

2) ค่าคอมมิชชั่นเอเย่นต์ที่บทความอ้างถึงจำนวน 18 พันล้านบาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นจำนวนที่สูงกว่ายอดขายผ่านเอเย่นต์ทั้งหมดที่ 16 พันล้านบาทเสียอีก

นอกจากนี้ ผมซึ่งเป็น 1 ใน 5 เสือขาใหญ่ที่บทความพาดพิงถึงนั้น มียอดขายในอันดับ 33 ผมไม่รู้ว่าเอเย่นต์รายเล็กอันดับ 33 นี้ เหตุใดจึงได้รับเกียรติเป็น 1 ใน 5 เสือขาใหญ่กับเขาด้วย

ผมรบกวน เพื่อนๆ เพื่อนๆ พี่น้องเอเย่นต์ ทุกท่าน ช่วยกรุณาแชร์เรื่องราวนี้ออกไป เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจถึงเอเย่นต์ประเทศไทย ว่ามิได้มีส่วนทำให้การบินไทยประสบกับปัญหาขาดทุน ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครับ”

เอเย่นต์ขายตั๋วใหญ่ 2 รายว่ามาเช่นนี้

คราวนี้ มาดูเรื่องที่พรานบุญเขียนถึงค่าคอมมิชชั่นการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินบ้าง พรานบุญบอกว่า ขณะที่ปัญหาใหญ่ของสายการบินแห่งชาติ “การบินไทย” กำลังเดินไปสู่ทางสองแพร่ง

ทางแรก รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับเงื่อนไขด้วยการ “สอดเข้าไปแก้หน้า” ผ่านการการค้ำประกันเงินกู้ 54,000-70,000 ล้านบาท แลกกับการอุ้มชูให้การบินไทย ที่ให้เดินหน้าต่อไปในทางธุรกิจได้ แต่อาจยืนอยู่ได้แค่ 3-4 เดือน

เพราะเงินกู้ก้อนนี้ จะถูกกัดกินจากเจ้าหนี้เช่าซื้อเครื่องบินไป 42,000 ล้านบาท ถูกกัดกินไปจากเจ้าหนี้เงินกู้ระยะสั้น 1 ปี ที่รอกวักมือเรียกอยู่ 21,730 ล้านบาท

เหลือมาใช้ในการรันธุรกิจ เพียงไม่กี่พันล้านบาท โดยมีเดิมพันแบบตายเป็นตาย ว่าต้องสามารถทำรายได้จากธุรกิจตามปกติเดือนละ 13,000 ล้านบาท เจ้าจำปีก็จะรอดตายดุจควายขวิด

ทางที่สอง รัฐบาลและกระทรวงการคลังยื้อต่อไปไม่ไหว  เพราะถึงตอนนี้การบินไทยมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ หนี้สินรวม 2.6 แสนล้านบาท มีหนี้จากค่าเช่าซื้อเครื่องบิน 140,000 ล้านบาท มีทรัพย์สิน 2.85 แสนล้านบาท....ปลายทางของเจ้าจำปีจะไม่เดินไปสู่แผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ

หากแต่กำลังเดินเข้าไปสู่โหมดของการร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

เป็นการยืมมือเจ้าหนี้มามีส่วนร่วมกับแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องยอมลดหนี้ ต้องมีการแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินต่อได้ ไม่เช่นนั้นเงินหายกำไรหด อดได้สตางค์คืน ไปรอการชำระบัญชี ได้เลย....

อีเห็น และนกตะกรุม ผู้มีสายตาแหลมคมดุจเหยี่ยวทะเลทรายชี้นิ้วบอกว่า ไม่เพียงแค่พนักงาน กัปตัน ยันกราวด์ที่ยกมือทาบอกลุ้นระทึก บรรดา 5 ขาใหญ่ในวงการเอเย่นต์ขายตั๋วการบินไทยก็สุมหัวแบกะบาล เพื่อหาทางออกในการอยู่รอดจากการผ่าตัดการบินไทยเช่นกัน...

เนื่องเพราะถ้าการบินไทยไม่รอด 5 เสือขาใหญ่ก็จอดสนิท

ทำไมนะรึ! เพราะในระบบการทำธุรกิจการบินของเจ้าจำปีนั้น ได้มัดขาเอเย่นต์ขายตั๋วเข้ากับระบบการตลาดการพาณิชย์ของเจ้าจำปีมาร่วม 40-50 ปีแล้ว 

การบินไทยถูกดีไชน์การขายตั๋วโดยตรงของการบินไทยเองแค่ 30% ส่วนตั๋วที่เหลือมอบหมายให้เอเย่นต์ร่วม 200-300 ราย กิน ”ค่าคอมมิชชั่น”เป็นส่วนแบ่ง 10-15-20% ตามเครดิตและสายสัมพันธ์ของเอเย่นต์กับผู้บริหารฝ่ายพาณิชย์และการตลาด

ขาใหญ่เหล่านี้เติบโตแผ่อาณาจักรขายตั๋วและทัวร์ลงแขก ชนิดที่สามารถรวบตั๋วโดยสารที่ “คอนเฟิร์มที่นั่งได้หมด” มาตั้งแต่ยุค “สุเทพ สิบสันติวงศ์” เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ ที่มีการจัดระดับเอเย่นต์ขายตั๋วการบินไทย จนทำยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 ราย แผ่บารมีออกไปจนถูกขนานนามว่า 5 เสือขาใหญ่

ขาใหญ่เหล่านี้ทำรายได้จากการขายตั๋วการบินไทยอย่างเป็นกอบเป็นกำทุกปีมาตลอด โดยยอดที่ต้องจ่ายค่าการขายจะเรียกว่าค่าคอมฯหรือค่าอินเซนทีฟหรือ Net Price ก็ได้ นกเหล็กในการบินไทยบอกว่า รายได้จากการขายตั๋วโดยสารการบินไทยตกปีละประมาณ 1.45-1.88 แสนล้านบาท ซึ่งบินไทยจะต้องจ่ายค่าคอมให้กับเอเย่นต์เหล่านี้ตกปีละร่วม 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท

ใครเป็นใครมาดูนี่....เสือตัวแรกคือ เฮงเชียง ทัวร์ แอนด์ ทราเวิล เซอร์วิส เอเย่นต์ดังย่านเยาวราช สัมพันธวงศ์ ปัจจุบันมี “เสี่ยบี” บริหารจัดการเรื่องตั๋ว

เสือตัวที่สอง รุ่งนิรันดร์ เอเย่นดังบางรัก มี “เสี่ยหมี”บริหารจัดการด้านเครือข่าย

เสือตัวที่สาม มาแจ๊สติกแทรเวล อินเตอร์เนชั่นแนล  เอเย่นต์ดังย่านมาแตร์เดอีร์ เพลินจิต มีสองพี่น้อง “เสี่ยโอ๋แอนด์เสี่ยเอิร์ธ”เป็นผู้บริหารใหญ่

เสือตัวที่สี่ต้องนี่ เถกิงทัวร์ ของคุณเถกิง สวัสดิพันธ์ อดีตครูสอนหนังสือ และผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ทัวร์รอแยล ในยุคแรก ที่แม้ปัจจุบันเฮียจะหันไปทำธุรกิจซื้อขายที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม แต่ทัวร์ต่างประเทศยังยิ่งใหญ่หาใครทาบติด

เสือตัวที่ห้าเป็นขาใหญ่ เอส ที เดอลักซ์ ทัวร์ ของเฮียช้า ผู้มีคติดช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

5เสือขาใหญ่เหล่านี้คือ ผู้ครองตลาดการขายตั๋วการบินไทยมายาวนานตั้งแต่รุ่นบุกเบิกยันรุ่นลูก มีสายสัมพันธ์อันแน่บแน่นกับเจ้าหน้าที่ “Space Control” ที่ทำหน้าที่ดูแลตั๋วที่นั่งในแต่ละเที่ยวบินมาอย่างยาวนาน

5 เสือขาใหญ่เหล่านี้ มีสายสัมพันธ์อันแน่บสนิทกับผู้บริหารด้านการพาณิชย์และการตลาด โดยเฉพาะมือดีผู้ที่ถูกส่งไปคุม “สำนักสีลม-หลานหลวง” ซึ่งหน่วยงานที่เป็นหัวใจในเรื่องการขายตั๋ว การตลาด พาณิชย์ ไม่เว้นแม้แต่ “เสี่ยปู-กรกฎ ชาตะสิงห์” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย-ประเทศไทย บริษัท การบินไทย ที่คุมอยู่ในปัจจุบัน

ความจริงเป็นเช่นไร คนในการบินไทย คณะกรรมการ ฝ่ายบริหารการบินไทย บริษัทที่ปรึกษาของบินไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถาวร เสนเนียม น่าจะลงไปสอบสาวราวเรื่องให้กระจ่างชัด

เพราะข้อมูลตัวเลขทางการเงินยืนยันว่า ค่าตั๋วการบินไทย 1.8-2 แสนล้านบาท/ปี มีบันทึกค่าใช้จ่ายว่าต้องจ่ายค่าดำเนินการให้เอเย่นต์ 18,000 ล้านบาท...แฮ่ม

เค้กก้อนโตข้าใครอย่าเตะ!