จับตา"การเมือง"  ดิ้น ล้มละลาย "การบินไทย"

13 พ.ค. 2563 | 11:05 น.

"การเมือง" ดิ้น ล้มละลาย”บินไทย" ประยุทธ์ แย้ม ฟื้นฟูศาล ได้แต่ต้องรอบคอบ   "ดร.สามารถ "ระบุชัด เตะถ่วงโยนเผือกให้สนข. เสนอคลังลดถือหุ้น -ส่งศาลมีผลดีกว่า

ดังกระฉ่อนโลก ลุ้นกันตัวโก่งสำหรับบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) หรือการบินไทย สายการบินระดับชาติ ของไทยที่ว่า ในที่สุดแล้ว  รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะ"อุ้มหรือไม่อุ้ม"หรือชี้ขาดเดินเข้า สู่ กระบวนการฟื้นฟูในศาลล้มละลายกลาง  ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ.2483ทั้งนี้ ประเมินว่า ยากที่จะอุ้ม หรือไม่อย่างไร

 ทั้งนี้ดูจากการปฎิเสธ การนำ “กรอบฟื้นฟูหลวมๆ” การบินไทย  เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.)รอบที่ผ่านมา(วันที่ 12 พฤษภาคม 2563)โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการ ให้ทุกฝ่าย หาข้อยุติ  อย่างละมุน เอาให้สะเด็ดน้ำ ไปในทิศทางเดียวกัน

 และการที่กระทรวงคมนาคม  โยน เผือกร้อนไปที่สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) ทำแผนผ่าทางตัน มองว่า เป็น การเตะลูก ถ่วงเวลา  เอาเข้าจริงแล้ว ประเมินว่า เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะการบินไทยเอง ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะจัดการภาระหนี้อย่างไร หารายได้ มากมายจากทางไหน  หลัง บริหารขาดทุน ติดต่อกันก้าวสู่ปีที่ 9 เตี้ยอุ้มค่อม ปล่อยให้บริษัทลูกกัดกินเนื้อ จนไปต่อไม่ได้ ขณะหนี้สิน พอกพูน 2.4 แสนล้านบาท ข้อมูล ณ สิ้น ปี 2562  มีมากกว่า ทรัพย์สินเพียงกว่า 10,000 ล้านบาทเท่านั้น   

เมื่อปีนี้ถูกโรคระบาดไวรัส "โควิด” กัดกินหยุดบินยาว ไปถึงวันที่ 25 มิถุนายน ทำให้หนี้สิน ที่ต่ำกว่าทรัพย์สินมีอันต้องสะบั่น พอกพูนเหนือทรัพย์สิน และอาจย้อนรอยบทเรียน 5 ปีก่อน การบินไทยเคยได้รับการฟื้นฟูดอัดฉีด  แต่ไม่นานก็เข้าสู่รูปการเดิม เหมือนเลี้ยงไม่รู้จักโต ขณะนายกรัฐมนตรี  ดูเหมือนจ่อจะเปิดทางว่า สามารถเดินเข้าสู่ศาลล้มละลายกลางได้ แต่ต้องรอบคอบ เช่นเดียวกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์ สยามชิดชอบ ที่ติงว่าการบินไทยต้องเคลียร์ตัวเอง โดยเฉพาะไม่ให้มีข้อเสีย แม้แต่ข้อเดียว ในจำนวน 23 ข้อ

 

 

 

 แม้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ผ่านมา  ได้เห็นชอบให้ปรับแก้แผนฟื้นฟูการบินไทย ผ่าตัดตัวเองครั้งใหญ่ โดยรัฐอัดฉีด ซึ่งให้เหตุผลที่ว่า "การบินไทย" เป็นสายการบินระดับชาติ ที่เป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลก ก็ตาม แต่คนอีกกลุ่มเสนอว่าหากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50% เท่ากับว่าการบินไทยสายการบินรัฐวิสาหกิจ น่าจะมีขนาดไม่ต่างจากบริษัทเอกชนทั่วไป และสามารถยื่นขอล้มละลายต่อศาลได้

 สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่า บริษัทที่ปรึกษาของการบินไทย ต้องการที่จะเข้ากระบวนการศาล เพราะในระยะยาวดีต่อทุกฝ่าย แม้แต่ตัวของการบินไทยเอง ขณะเดียวกัน หากการบินไทยทำตัวเองให้เล็ก เป็นแบรนด์เดี่ยวๆ ไม่แบกรับภาระหนี้ของบริษัทลูก ก็จะคล่องคัวขึ้น

 

 จับตา"การเมือง"  ดิ้น ล้มละลาย "การบินไทย"

ทั้งนี้ในมุมวิเคราะห์ ของ “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โฟสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า  "ผมคาดว่าการบินไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีข้อดีต่อการบินไทย ดังนี้"

1. สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

2. พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยจึงมีเวลาที่จะฟื้นฟูกิจการได้ เช่น ลดฝูงบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายตั๋ว ลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือนและสวัสดิการ เป็นต้น

3. เจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลง ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็มีข้อเสียต่อการบินไทย และภาพรวมของประเทศ ดังนี้

1. ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน

2. สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้จากการบินไทยอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนจากการบินไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

3. อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ (หมายถึงพันธบัตรที่หน่วยงานของรัฐขาย หรือหุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนขาย)

 จับตา"การเมือง"  ดิ้น ล้มละลาย "การบินไทย"

ถ้าการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลฯ อาจมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ของการบินไทยอาจร้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้การบินไทยล้มละลายก็ได้ โดยศาลฯ จะตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาจัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมด แล้วนำมาเฉลี่ยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าจำนวนหนี้จริงเป็นอย่างมาก แต่วิธีนี้ก็ถือเป็นวิธีการสุดท้ายที่กฎหมายจะสามารถบังคับเอากับการบินไทยได้

จึงต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาว่า ครม.จะเคาะให้ “อุ้มหรือไม่อุ้มการบินไทย” ในเร็วๆ นี้