"ทีมวิจัย MQDC" ตีโจทย์ อสังหาฯคนเมือง หลังโควิด-19    

16 พ.ค. 2563 | 04:50 น.

ผ่ามุมคิด

การมาของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 นอกจากสร้างผลกระทบรุนแรงทุกภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตลอดจนการอยู่อาศัย นางสาวการดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เผยภาพอนาคตอสังหาฯไทย เมื่อโควิด-19 เป็นปัจจัยใหญ่ เร่งการเปลี่ยนแปลง สู่มาตรฐานการก่อสร้างเน้นระบบเทคโนโลยีเพื่อสุขภาวะที่ดีสูงขึ้นเจ้าของอาคาร ห้างสรรพสินค้า และโครงการที่อยู่อาศัยต้องปรับตัว พร้อมระบุปัจจัยเรื่องทำเลในเมืองสำหรับโครงการบ้าน-คอนโดฯ อาจถูกลดบทบาทลง หลังพบแนวโน้มคนทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home สูงขึ้นนับ 30% หลังวิกฤติโควิด-19 ฉะนั้นควรเน้นการออกแบบขนาดของพื้นที่ เพื่อรับค่านิยมเศรษฐกิจติดบ้าน

การดี เลียวไพโรจน์

 

มองผลกระทบโควิด

วิกฤติโควิด -19 ก่อให้เกิดดิสรัปชันและความเปราะบ้างด้านเศรษฐกิจ เราวิเคราะห์ว่า เดิมเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงอยู่ก่อนแล้ว แต่วันนี้เราเผชิญปัญหา 2 ต่อ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ภาคธุรกิจน่าเป็นห่วง พบว่าบางส่วนเลือกเดินหน้าต่อ แต่อีกบางส่วนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ในอนาคต จึงอยากเสนอให้รัฐ แก้ปัญหา ผ่านการเร่งเพิ่มขีดความสามารถ หรือ เพิ่มทักษะการทำงานใหม่ๆ (Reskill) ให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพื่อรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์โรคระบาดดังกล่าว คาดจะทำให้แพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วย รวมถึงระบบเทคโนโลยีนั้น จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานของเมือง รวมถึง อาคาร บ้านพัก จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ โดยมีความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเป็นตัวเร่ง


 

จุดเปลี่ยนมาตรฐานใหม่อาคาร

เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการใช้พื้นที่สาธารณะอีกต่อไป ทำให้ความต้องการเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยลดความเสี่ยงในแง่สุขภาพมีมากขึ้น เพราะประเทศไทยอาจไม่ได้เผชิญแค่เชื้อโควิดเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึง สถานการณ์ที่อาจเลวร้ายมากกว่านี้ในอนาคต เพิ่มเติมจาก มลพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่าจะอยู่ต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีแนวโน้มการปรับเปลี่ยนในแง่โครงสร้างของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ ฉะนั้น เจ้าของอาคาร ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ต้องมีการวางแผนรับมือ และสร้างเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ ในการป้องกัน เพราะความมั่นใจดังกล่าว จะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่คนจะเลือก ว่าต้องการเข้าไปอยู่ ไปทำงาน หรือ อาศัยในพื้นดังกล่าวหรือไม่ ทั้งยังสร้างเป็นจุดเด่นให้กับอาคารตัวเองได้

 

คนเริ่มไม่มั่นใจต่อการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะทุกแห่ง เรามองไม่ใช่เพียงความร้ายแรงของโควิดเท่านั้น แต่เดิมไทยก็เผชิญกับวิกฤติฝุ่น PM2.5 อยู่แล้ว ฉะนั้นการเรียกร้องให้ใช้เทคโนโลยีเข้าจัดการเพื่อลดความเสี่ยง ลดมลภาวะ จะมีมากขึ้น เช่น เครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงมาตรฐานใหม่ๆ ในการก่อสร้างตึก อาคารต่างๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งเดิมอาจมีหลักทางด้านกฎหมายครอบคลุมบังคับใช้ สำหรับการพัฒนาโครงการต่างๆ อยู่แล้ว แต่หลังจากนี้น่าจะถูกยกระดับสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ในแง่ของมาตรฐานทางด้านความสะอาด สุขอนามัย เช่น ระบบอากาศบริสุทธิ์ การฆ่าเชื้อทำความสะอาดอาคาร เป็นต้น

ความคิดผู้บริโภคยุคใหม่

นางสาวการดี ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาและวิจัยถึง 10 เทรนด์ที่สังคมไทย ควรตั้งรับหลังพ้นภาวะวิกฤติ COVID-19 มีอีก 1 คำที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือ Everything At Home หรือ เศรษฐกิจติดบ้าน ความเคยชินกับการอาศัยอยู่ในบ้าน ทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในที่พักอาศัยของตนเองทั้งหมด ทำให้ขนาดของพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ใหญ่และหลากหลายรองรับทุกกิจกรรมมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ต้องมีพื้นที่สำหรับการทำอาหาร ทำงานและออกกำลังกาย ขณะที่บ้านนอกเมือง จะได้รับความสนใจมากขึ้น จากความคิดของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ต่างจากที่ผ่านมา ที่มักยึดเอาแนวเส้นรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แต่การทำงานในอนาคตที่บ้าน ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง หรือ อาศัยในคอนโดมิเนียมขนาดเล็กกลางใจเมืองต่อไป

 

โควิด ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนรังเกียจการอยู่ในเมือง แต่เป็นโอกาสมองหาทำเลรอบนอก บ้านที่มีพื้นที่มากขึ้นมากกว่า เพราะสามารถทำงานที่บ้านได้ ต่างจากอดีตซึ่งทุกอย่างถูกถมเข้าสู่ศูนย์ของกทม. ทั้งหมด และคนก็เลือกจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14-16 พฤษภาคม 2563