สัมมากร ระดมสมองพัฒนาสินค้าใหม่ สร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน

13 พ.ค. 2563 | 03:09 น.

สัมมากร นำแนวคิด “Design Thinking” พาองค์กรฝ่าคลื่นดิสรัปชั่น เร่งเครื่องพัฒนาสินค้าใหม่มัดใจลูกค้า เพื่อสร้างธุรกิจเติบโตยั่งยืน

ท่ามกลางการถาโถมของสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้และบางเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นของเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของสงครามการค้า หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้น ได้กลายเป็นโจทย์ของทุกบริษัทว่าจะมีการตั้งรับหรือวางแผนเชิงรุกอย่างไร เพื่อนำองค์กรก้าวผ่านกระแสดิสรัปชั่น และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว

สัมมากร บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสรรค์โครงการมายาวนาน 50 ปี เลือกที่จะเริ่มต้นจากการพัฒนา คน หรือ พนักงานให้มีศักยภาพ เพราะมองว่าพนักงานเป็นฟันเฟืองหลักของบริษัท และเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งต่อสินค้าที่ดีสู่ลูกค้า โดยได้นำแนวคิด Design Thinking เข้ามาเทรนนิ่งให้กับพนักงานในทุกระดับขององค์กร เพื่อเติมเต็มเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และเสริมกระบวนการคิดการทำงานให้ดีขึ้น

นายณพน เจนธรรมนุกูล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแนวคิด Design Thinking คือ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหรือโซลูชั่นใหม่ๆ ให้เหมาะกับการนำมาใช้สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างรอบด้าน เพราะเป็นการทำความเข้าใจ (Empathy) วิธีคิดและความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ ซึ่งหากมีการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร             ก็จะต่อยอดให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน การดำเนินชีวิต และสามารถพัฒนาสินค้าที่ตรงใจลูกค้าได้ ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใดก็ตาม

“ยกตัวอย่างเรื่องการออกแบบบ้าน สัมมากรอยากพัฒนาโครงการที่ทุกคนหลับสบาย หรือเรียกอีกอย่างว่า  บ้านหลับสบาย เป็นบ้านที่ให้ความสุข ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของการอยู่ร่วมกัน อยู่ในชุมชนและสังคมที่ดี เราจึงนำแนวคิด Design Thinking มาใช้ในการออกแบบบ้านโครงการ และบริการหลังการขาย ด้วยการคิดกันว่าความต้องการและปัญหาของลูกค้าในปัจจุบันคืออะไรบ้าง แล้วเข้าไปพัฒนาให้มันดีขึ้นกว่าเดิม”

สอดคล้องกับหลักการทำงานของ สัมมากรที่เน้นการออกแบบโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเพราะธุรกิจเราเป็นการขายของให้กับผู้ใช้งาน เราจึงต้องเข้าใจก่อนว่าเขามีไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยอย่างไร  ให้ความสำคัญกับอะไร ซึ่งหากทุกคนในบริษัทใช้ Design Thinking ก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างวิกฤตไวรัสโควิด-19 เราก็ยังคงสามารถประคองยอดขายได้ เพราะสินค้าของเราทำมาแล้วตอบโจทย์ลูกค้า”

นายณพน บอกว่า การระบาดของไวรัสในครั้งนี้ส่งผลกระทบกับตลาดโดยรวมอย่างมาก ทำให้แผนการขยายธุรกิจในปีนี้ต้องเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเร่งสร้างการเติบโตให้กับพนักงานและองค์กร ด้วยการให้พนักงานหยิบยกปัญหาจากการทำงานที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ทั้งของแผนกตัวเองหรือแผนกอื่น แล้วมาร่วมแก้ปัญหากัน พร้อมทั้งพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายในองค์กรให้เดินหน้าอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ซึ่งการเทรนนิ่งรูปแบบนี้เปรียบเหมือนกระบวนการสร้างให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน เมื่อพวกเขารู้ว่าองค์กรมีปัญหาส่วนไหนก็จะได้ช่วยกันอุดรอยรั่วนั้น

“ถ้าทุกคนถูกหล่อหลอมด้วย Design Thinking แนวทางการแก้ปัญหาก็จะไม่ยึดติดกับแนวทางเดิม และกล้าหา        หนทางใหม่ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนามุมมองและความคิดให้มองไกลมากขึ้นทำให้เวลาทำงานจะมีการเช็กตัวเองอยู่ตลอดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีแล้วหรือยัง มีประสิทธิภาพมากที่สุดหรือไม่ หรือมีวิธีไหนอีกบ้างที่จะพัฒนาการทำงานให้มีศักยภาพ คือเมื่อพนักงานเกิดความตระหนักแล้วก็จะหาเครื่องมือใหม่ๆ มาเสริมการทำงานของเขา ซึ่งผมมองว่ารูปแบบการทำงานอย่างนี้จะเป็นกลไกที่ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน”

ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิด Design Thinking ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องการสื่อสารภายในองค์กรเพราะพนักงาน                      จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ส่งผลต่อกระบวนการส่งต่องานที่เป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีอุปสรรค โดยหนึ่งในกิจกรรม Design Thinking ที่สัมมากรนำมาใช้ เป็นโปรเจ็กต์ออกแบบออฟฟิศใหม่ ด้วยการแบ่งพนักงานเป็นทีม แล้วให้ไปสัมภาษณ์เพื่อนแต่ละแผนกว่ามีความต้องการใช้งานหรือมีปัญหาอะไรในการทำงานบ้าง หลังจากนั้นกลับมาออกแบบ เป็นห้องทำงานในสไตล์ที่คิดว่าตอบโจทย์มากที่สุด ซึ่งบริษัทจะนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้ไปใช้สำหรับการออกแบบออฟฟิศใหม่ด้วย

 

“สัมมากรมีแผนจะปรับปรุงออฟฟิศใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจ เพราะเรามองว่าถ้าหากได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่จะกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกแอคทีฟ และช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังเป็นการสร้างEcosystem ให้พนักงานได้ช่วยกันคิดค้นสิ่งใหม่ๆ สามารถดึง                       ทุก Pain Point ของลูกค้าออกมา และสร้างสินค้าที่ตรงกับความต้องการได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับPositioning ของสัมมากรในการเป็นแบรนด์ที่สร้างบ้านจากความเข้าใจชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริง”

โดย บมจ.สัมมากร ได้มองภาพการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปี 2563 ว่าน่าจะเป็นไปตามที่วางไว้ ซึ่งจากการประเมินความต้องการซื้อที่แท้จริง (Real Demand) ในตลาด มองว่าหลายคนมีความพร้อมและวางแผนที่จะซื้อบ้านไว้อยู่แล้ว อีกทั้งสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้คนต้องทำงานจากบ้าน (Work from Home) และจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เห็นชัดมากขึ้นในอนาคต ทำให้คนต้องการพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของการอยู่คนเดียว หรือพื้นที่ส่วนกลางที่อยู่ร่วมกัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานด้วย ดังนั้น “บ้าน” จึงเป็นคำตอบของการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งบริษัทมีหลายโครงการที่พร้อมให้ราคาที่คุ้มค่ากับลูกค้า รวมถึงได้วางแผนไว้ว่าโครงการใหม่ๆ ที่จะออกมานั้นจะเน้นเป็นโครงการแนวราบ เพราะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน บมจ.สัมมากร มีโครงการเปิดขายอยู่ 9 โครงการ คือ บ้านเดี่ยว ได้แก่ สัมมากรชัยพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ,        สัมมากร ชัยพฤกษ์-วงแหวน 2, สัมมากร รังสิต คลอง 7 (โซน 4), สัมมากร รังสิต คลอง 7 (ไพร์ม-7), ทาวน์โฮม ได้แก่ สัมมากร อเวนิว รามอินทรา-วงแหวน, สัมมากร อเวนิว ชัยพฤกษ์-วงแหวน, สัมมกร อเวนิว สุวรรณภูมิ, คอนโดมิเนียม ได้แก่ S9 Condominium และ โฮมออฟฟิศ ได้แก่ สัมมากร Office Park โดยตลอดปี 2563                        ตั้งเป้าเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มจำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 3,700 ล้านบาท