ประเทศไทย ในระยะเปลี่ยนผ่าน Thailand in Transition

14 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3574 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          ผมยังพาทุกท่านมาโลดแล่นกับบทความเติมปัญหาชุด “โลกเปลี่ยน คนปรับ:ความพอเพียงในโลกหลังโควิด” ที่ทีมผู้รู้และ ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ร่วมกันเสนอความคิดเห็นเป็นตอนที่ 3

          ทีมกูรูชุดนี้ได้ขมวดปมออกมาให้เห็นชัดว่า “โลกหลังโควิด -19” จะเป็นโลกที่มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เป็นการปรับเปลี่ยนทั้งเชิงโครงสร้าง และ พฤติกรรมแบบ “ภาคบังคับ” ก่อให้เกิดโลกที่ผู้คนต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น การกระทำของบุคคลหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่น ไม่มากก็น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า “จากนี้ไปผู้คนในโลกสุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน”

          เรากำลังดำรงชีวิตอยู่ใน “โลกที่ไร้สมดุล” เป็นความไร้สมดุล ในสภาวะที่พวกเราต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น เป็นปฐมบทของความไร้เสถียรภาพความไม่มั่นคงปลอดภัยและความขัดแย้งที่รุนแรงที่สะท้อนผ่านความ เสี่ยงและภัยคุกคาม จนกระทั่งก่อเกิดเป็นวิกฤติโลกในที่สุด

          มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า “You can’t stop the waves but you can learn to surf.” ที่มีความหมายว่า “เราหยุดคลื่นไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้การโต้คลื่นได้”

          สถานการณ์แบบนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องทำสงครามต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำสงครามต่อสู้กับปัญหาความยากจน ตลอดจนทำสงครามต่อสู้กับความไม่สงบภายในประเทศ

          แต่นับจากนี้ไป ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จนทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิม มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันได้แก่ สงครามต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำของโอกาส หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน

          นั่นทำให้สงครามต่อสู้กับภัยคุกคามไม่ตามแบบในปัจจุบัน อาทิเช่น โรคระบาด เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ และสงครามไซเบอร์ เป็นต้น

          หากย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยะประเทศเพียงครั้งเดียว นั่นคือ การปฏิรูปประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

          ประกอบกับวิสัยทัศน์และพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้บ้านเมืองเกิดความเป็นปึกแผ่น เกิดการสร้างรัฐชาติไทยที่เข้มแข็ง มีการเลิกทาส การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยี วิทยาการ และการบริหารจัดการ ที่นำสมัยจากต่างประเทศ มาประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

          ผิดกันกับในยุคปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงปะทะสองแนว ทั้งแรงกดดันจากภายนอก อาทิเช่น ระบอบทุนนิยมโลก หรือการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ด้วยการเงิน การจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งมีชาติมหาอำนาจแสวงหาแนวร่วม และผลประโยชน์จากนานาชาติ และภัยคุกคามไม่ตามแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

          และแรงปะทุจากภายใน อาทิเช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ปัญหาชุมชน และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตลอดจนปัญหาคุณค่าและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ถูกกลืนโดยสังคมเมือง

          การจะพัฒนาประเทศ ให้ก้าวข้ามปัญหาวิกฤติและภัยคุกคามต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัย “การปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้าง” อย่างเป็นระบบและจริงจัง

          ดังนั้น การปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างในโลกหลังโควิด ตั้งอยู่บนหลักคิดสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

          • สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก

          • เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          • หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          ในโลกหลังโควิด การขับเคลื่อนที่สมดุล (Thriving in Balance) ตามหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้พวกเราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้กับประเทศและประชาคมโลก สะท้อนผ่านการรักษ์โลก การเติบโตที่ยั่งยืน ความมั่งคั่งที่แบ่งปัน และสันติภาพที่ถาวร

          หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการขับเคลื่อนที่สมดุลใน 4 มิติ ประกอบด้วย

          • ความมั่งคั่งทำงเศรษฐกิจ (Economic Wealth) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไร ผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราการเติบโต และความพึงพอใจของผู้บริโภค

          • ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม (Social Well-beings) ครอบคลุมประเด็นในเรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงาน สิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อชุมชน และความรับผิดชอบต่อสังคม

          • การรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) สะท้อนผ่าน ประเด็นในเรื่องทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ การบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต คุณภาพน้ำและอากาศ ความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทาน และการดำเนินตามมาตรฐานที่กำหนด

          • ศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ (Human Wisdom) เน้นในเรื่องการตระหนักในคุณค่ามนุษย์ ศักยภาพและการลงทุนในมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างมูลค่า การเคารพในความเป็นปัจเจก และการมีอิสระทางความคิด

          ที่สำคัญการขับเคลื่อนที่สมดุลทั้ง 4 มิติ ตามหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้นนั้น มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเป็นอย่างดี

          การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญ ในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย” (Modernism) มาสู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) ก่อให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อ ในหลายอย่างของโลกนี้ ลองพิจารณาจากวิธีคิดชุดนี้ดู

 

โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย  โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน
- ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี (The Bigger, The Better) - ยิ่งดี ยิ่งใหญ่ (The Better, The Bigger)
- ยิ่งมาก ยิ่งดี (The More, The Better) - ยิ่งดี ยิ่งมาก (The Better, The More)
- ยิ่งเร็ว ยิ่งดี (The Faster, The Better) - ยิ่งดี ยิ่งเร็ว (The Better, The Faster)

 

          ความพอประมาณ การใช้ความรู้เหตุผลในการตัดสินใจ และการมีภูมิคุ้นกันที่ดี ก่อให้เกิดความสมดุล ในบริบททางเศรษฐกิจยุคใหม่ชนิดที่คิดไม่ถึงกำลังเดินทางท้าทายการทำงานของทุกคน!