ต้อง “เซตซีโร่” “การบินไทย” เริ่มต้นเหิรฟ้าใหม่

13 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์โซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3574 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค.63 โดย... พริกกะเหรี่ยง

 

        ... โลกโซเชียลร้อนผ่าว “การบินไทย” ซัดกันนัว คนใน-คนนอก นักวิชาการ นักการเมือง ออกมาผสมโรง รุมสกรัมจริงบ้าง กลัวตกกระแสบ้าง โดยหยิบเอาความเป็นห่วงว่าเงิน 5 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาล “อุ้ม” การบินไทยมาเป็นประเด็น ซึ่งก็จริงหากครั้งนี้ไม่รอดก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากยังบริหารกันแบบเดิมๆ ผู้บริหารชุดเดิม คิดแบบเดิมๆ ก็น่าจะหมดภายใน 5 เดือน ต้องร้องขอใหม่อีก เป็นวัฏจักรเก่าๆ ที่คนไทยคุ้นเคย

        ... หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกมาพูดว่าทำแผนฟื้นฟูมา 5 ปี แต่ยังไม่ถึงไหน จะไม่ช่วยอีกแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แสดงให้เห็นว่า นายกฯรับรู้ปัญหาของการบินไทยมาเป็นอย่างดี และคงจะเอือมระอาเต็มที ซึ่งนอกจากไม่นำแผนฟื้นฟูเข้าครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “บิ๊กตู่” ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์เต็มปากเต็มคำเช่นนี้ เท่ากับว่าครั้งนี้หากรัฐบาลยื่นมือมาช่วย ก็ต้องไม่เสียหน้า หากจะเข้าไป “อุ้ม” ใส่เม็ดเงินลงไป โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แล้วการบินไทยต้องไปรอดตลอดรอดฝั่ง

 

        ... แต่ตราบใดที่แผนไม่ชัด ใครจะกล้าใส่เงิน เรื่องนี้ตอน “ดีดีถั่ว-สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ไปเสนอแผนที่กระทรวงคมนาคม ก็ถูก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ไล่ให้กลับไปทำมาใหม่ เพราะคงรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าเรื่องนี้ผ่านไปก็จะกลายเป็นตราบาปเหมือนกับนักการเมืองรุ่นก่อนหน้าที่ถูกขุดมาด่ากันไม่จบ โดยเฉพาะกับแผนการซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งเป็น “ซาก” แอร์บัส 340 ที่ยังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงไม่จบไม่สิ้น

        ... การเมืองก็ยังเป็นการเมืองอยู่วันยังค่ำ เมื่อตกอยู่ในอาการโคม่า เพราะพิษโควิด-19 ไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน คมนาคมไม่มีเงิน แต่คุมนโยบาย คนที่มีเงินคือกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ท่าที่ของ “คมนาคม” จึงผ่อนลงและโยนลูกให้คลังไปเลี้ยงต่อ แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นรัฐบาลพรรคผสม ทั้งปชป.-ภูมิใจไทย-พปชร. สูตรในการอุ้มการบินไทย จึงไม่เสด็จน้ำ แถมยังมีรายการทำ “ลั่น” ปล่อยข้อมูล “ไส้ใน” ออกมาให้สื่อ ทั้งที่รมต.เป็นคนพูดเองแต่ให้อ้างแหล่งข่าว ห้ามบอกแหล่งที่มา เป็นต้น สุดท้ายก็ต้องโยนลูกให้ “นายกฯ” เป็นคนเคาะโต๊ะ

        ... ความจริงแผนฟื้นฟูการบินไทยทำกันมายืดเยื้อยาวนาน คนทำแผนก็คิดสร้างวิมานอากาศ เพราะบางส่วนใช้เงินจ้างที่ปรึกษาข้างนอกเข้ามาทำให้ ฝ่ายบริหาร คนปฏิบัติงานก็มองอีกหนึ่ง และคิดว่าธุระไม่ใช่ ต่างคนจึง “กอดเก้าอี้” แน่น มองหาโอกาสว่าเมื่อไรจะเปลี่ยนตัว “ดีดี” จะวิ่งเต้นไปซบนักการเมืองคนไหนดี เพราะทุกคนล้วนเส้นใหญ่ทั้งนั้น

        ... ที่ผ่านมาแผนที่ทำจึงมักวนเวียนอยู่กับลดค่าใช้จ่าย ซื้อเครื่องบินฝูงใหม่เอาใจนักการเมือง หารายได้เพิ่มแต่ในทางปฏิบัติกลับสวนทาง เพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม พนักงานยังอยู่เท่าเดิม เฮดออฟฟิศคนล้นงาน และมี “ไขมัน” อย่างหนาเต็มไปหมด

        ... การแต่งตั้งโยกย้ายเต็มไปด้วยระบบเส้นสาย หรือแม้กระทั่งล่าสุดการโยกฝ่ายการพาณิชย์ 41 ตำแหน่ง หลายตำแหน่งไม่เหมาะสม และดูเป็นการ “ล้างไพ่” เขี่ยคนที่ไม่ใช่พวกให้พ้นทาง ท่ามกลางข่าวสะพัดไปทั่วถนนวิภาวดีว่าใครกันหว่า? ที่ทำเป้ารายได้ฝ่ายขายปีที่แล้วหายไป 15,000 ล้านบาท ร้อนไปทั้งโลกโซเชียลที่แชร์กันว่อน! แถมการขายตั๋วก็พึ่งพาระบบดั้งเดิมคือเอเยนต์มากกว่า แทนที่จะขายผ่านออนไลน์ เหมือนสายการบินระดับพรีเมียมด้วยกันที่ทำกำไร นี่เป็นเพียงบางเรื่องที่ถูกแฉออกมาให้สังคมรับรู้

        ... การบินไทยมีหนี้สิน 2 แสนห้าหมื่นล้าน ย้ำตัวเลข 2.5 แสนล้านบาท แต่ทุนเหลือศูนย์ บรรดากูรูทั้งหลายจึงแสดงความเป็นห่วงด้วยความจริงใจว่า ใส่เงินแค่ 5 หมื่นล้าน ห้าเดือนก็หมดต้องขอใหม่ การฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้ถ้าจะเอาให้รอดต้องอย่างน้อยแสนล้าน แต่หากไม่ผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่ แค่ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตคงไม่พอ เพราะทางรอดการบินไทยวันนี้คงมีแค่ 1.รัฐต้องอุ้มค้ำประกันเงินกู้ให้ไปต่อกับ 2.เข้าแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย การบินไทยจำเป็นต้อง “เซตซีโร่” เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ทั้งโครงสร้างธุรกิจ-คน-เครื่องบิน และที่สำคัญหากคนการบินไทยยังไม่เปลี่ยน Mindset ก็จบ!!

        ... ไม่แปลกใจที่คะแนนนิยม “บิ๊กตู่” พุ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่จัดทีมบริหารโควิด-19 จนเอาอยู่ ทั่วโลกพากันชื่นชมประเทศไทย สุดยอดด้านสาธารณสุขและเอาจริงเอาจังกับมาตรการต่างๆ เพื่อปิดประตูบ้านป้องกันเต็มที่ ส่วนด้านหนึ่งก็เดินสายพบภาคเอกชนแบบ “ไร้เงานักการเมือง” โดยซุ่มไปเงียบๆ ไล่ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ “เจ๊ง” หนักจากพิษโควิดจนปิดกิจการชั่วคราวกันทั้งโลก โดย “นายกฯลุงตู่” นัดข้ามวันไปสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อหารือกับผู้ประกอบการทัวร์ตัวจริงเสียงจริงว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร เอาให้ชัดๆๆๆ และเป็นกันเอง โดยมีทีมงานตามนายกฯไปแค่สี่ห้าคนไม่มีตำรวจติดตาม เก็บข้อมูลจากทัวร์เสร็จ

        ... จากนั้นนายกฯ “ประยุทธ์” ก็รีบนัดแนะกับบรรดาเจ้าสัวสมาคมโรงแรมไทย รับฟังปัญหา แต่ครั้งนี้นัดล่วงหน้าหลายวันให้เอกชนได้เตรียมตัว การที่นายกฯบุกถึงถิ่นภาคเอกชนรับฟังปัญหาจากปากผู้ที่เดือดร้อนเอง แค่นี้ก็ “ได้ใจเอกชน” ไปเต็มๆ ส่วนจะแก้ปัญหาได้ช้า-เร็ว แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า นายกฯจะไปไล่จี้ให้ข้าราชการและนักการเมืองที่กำกับดูแลนั้น “แอกทีฟ” ได้รวดเร็วทันใจแค่ไหน โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่ลูกจ้างยังร้องระงมยังไม่ได้รับเงินเยียวยา บางส่วนได้เงินแต่ถูกตัดเหลือ 22 วัน อ้าว! ได้ยินอย่างนี้แล้วเร่งมือหน่อย