บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

13 พ.ค. 2563 | 00:55 น.

บางจากเผยไตรมาสแรกปี 2563 มีรายได้รวม 43,070 ล้านบาท EBITDA ติดลบ 2,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,661 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.49 บาท

นายชัยวัฒน์  โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัท บางจากฯ ไตรมาส1/63 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 43,070 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,546 ล้านบาท ลดลง 205% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 230% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

มี Inventory Loss 3,434 ล้านบาท รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,689 ล้านบาท และเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 1,366 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีขาดทุนสุทธิรวม 4,316 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,661 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน ต่อหุ้น 3.49 บาท

 

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นเหตุให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลง มีผลต่อราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องลดการผลิตน้ำมันได้ กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงปลายไตรมาส ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 50.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 11.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลงเกือบ 20% จากไตรมาสก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสายการบินที่ต้องหยุดให้บริการ รวมถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปรับตัวลดลง

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

สำหรับผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,590 ล้านบาท มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิงในผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ลดลง ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีอัตราการผลิตเฉลี่ย 104,300 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 87% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น

 

และจากการที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมี Inventory Loss 2,774 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading จำกัด มีปริมาณการค้าและธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากการเดินหน้าขยายธุรกรรมการค้ากับคู่ค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป ตามแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัท

 

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA จากการดำเนินงาน 672 ล้านบาท แต่เนื่องจากมี Inventory Loss จำนวน 591 ล้านบาท ทำให้มี EBITDA 81 ล้านบาท โดยปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดลดลง 6% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนและลดลง 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันผ่านตลาดอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูง และในช่วงไตรมาส เป็นช่วง High Season ของการใช้น้ำมัน อีกทั้งในช่วงปลายไตรมาส ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง

 

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ บริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศและได้จัดกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ในคุณภาพน้ำมันดีเซล B10 อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนแบ่งการตลาดสะสมเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 15.9% ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน อีกทั้งมีการขยายจำนวนสถานีบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาและขยายธุรกิจ Non-Oil โดยมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 ทั้งสิ้น 1,204 สาขา ทั้งนี้ ค่าการตลาดสุทธิปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถกำหนดราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการได้เหมาะสมกับต้นทุนผลิตภัณฑ์

 

ในส่วนของธุรกิจ Non-oil ยังคงพัฒนาและขยายธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ร้านกาแฟอินทนิล มีจำนวน 610 สาขา โดยเปิดเพิ่ม 19 สาขา ในทำเลที่มีศักยภาพทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ประกอบกับการจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ และเมนูเครื่องดื่มสร้างสรรค์จากสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมจัดแคมเปญ “อยู่บ้านนะ เดี๋ยวเราไปส่ง” ในช่วงที่รณรงค์ให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยบริษัทฯ ได้มีมาตรการในการกระตุ้นยอดขาย ผ่านกิจกรรมและช่องทางต่างๆ และปรับตัวต่อสถานการณ์โดยเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางการจัดส่งมากขึ้น สนับสนุนให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือใช้บริการ SPAR ส่งตรงจากสาขาถึงบ้าน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีรายได้ลดลง 8% ขณะที่ EBITDA ปรับเพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง

 

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 770 ล้านบาท ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว ในโครงการ “Nam San 3A” เมื่อเดือนกันยายน 2562 และโครงการ “Nam San 3B” ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 45 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย “ลมลิกอร์” ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มฯ แต่มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมลดลง 23% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวลดลง เนื่องจากปัญหาภาวะแล้งที่มากผิดปกติ นอกจากนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นมีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าลดลง โดยประเทศไทยมีสาเหตุจากความเข้มแสงเฉลี่ย ปรับลดลง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการหยุดรับซื้อไฟฟ้า (Curtailmentจากการไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น

นายชัยวัฒน์  กล่าวต่อไปอีกว่า ในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 91 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ 24 ล้านบาทและส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย 67 ล้านบาท

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 510 ล้านบาท เพิ่มขี้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 162% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น คิดเป็น 95% เมื่อเทียบกับปี 2562 และ 61% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้ B100 ในภาคพลังงาน ที่กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก และน้ำมันดีเซล B7 และ B20 เป็นเกรดทางเลือก ถึงแม้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ B100 จะลดลง จากปัจจัยด้านฤดูกาลและจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในช่วงปลายไตรมาส แต่จากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น

 

ด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีรายได้ลดลงจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับทั้งปีก่อนหน้าและ ไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักเกิดจากการแข่งขันของธุรกิจเอทานอลที่ค่อนข้างสูง จากการผลิตเอทานอลรวมของประเทศเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง แต่จากการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้มีรายได้เพิ่ม ในส่วนของการจำหน่ายเอทานอลสำหรับนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคตามที่กรมสรรพสามิตอนุญาต

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA ขาดทุน 1,227 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก จากภาวะอุปทานล้นตลาดและอุปสงค์ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยมีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง อีกทั้งมีการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill และ Ordinary Goodwill และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ Nido Petroleum Pty. Ltd. 1,366 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก

นายชัยวัฒน์  กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดังนี้ ด้านความปลอดภัย  มีแผนงาน Business continuity management (BCM) ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารภาวะวิกฤตในสถานการณ์ โรคระบาด (Epidemic - Crisis management plan) โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง มีการประชุมและปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบพนักงานของกลุ่มบริษัทติดเชื้อโควิด-19 ได้ประกาศมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการกำกับดูแลและรับมือกับสถานการณ์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งได้มีการสื่อสารกับพนักงานและผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

โรงกลั่นบางจากฯ มีการปรับเวลาปฏิบัติงานของพนักงานที่ทำงานเป็นกะ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเคอร์ฟิว และกันพื้นที่อาคาร Control Room ให้เข้าออกได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น มีการจัดรถรับส่งจากโรงกลั่นถึงบ้านสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานในห้อง Control Room อีกทั้งได้เตรียมจัดพื้นที่ภายในโรงกลั่น เป็นที่พักสำรองกรณีที่พบการระบาดเป็นวงกว้าง

 

สถานีบริการน้ำมัน บริษัทฯ ได้จัดเตรียมมาตรการการดูแลความสะอาดอย่างเคร่งครัดในจุดสัมผัสต่างๆ เช่น กำหนดให้พนักงานบริการหน้าลานและเจ้าหน้าที่ภายในสถานีบริการทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการสอบถามและเฝ้าสังเกตอาการพร้อมวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือประจำตู้แคชเชียร์และบริเวณหน้าลาน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการ

 

ด้านบุคลากร บริษัทฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร ระบบปฏิบัติการ ระบบสารสนเทศต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Homeมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่น และได้กำหนดให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและ ข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างกัน ป้องกันการแพร่เชื้อและติดเชื้อ

 

บางจากกระอักพิษโควิดฉุดไตรมาสแรกขาดทุน 4.66 พันล้านบาท

 

การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องนั้น  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีการปรับแผนการผลิต การปรับลดค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนดังนี้ ด้านการผลิต โรงกลั่นได้มีการติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับการใช้กำลังการผลิตได้อย่างเหมาะสม และได้ปรับลดการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการในตลาดที่ลดลง คาดว่าในปีนี้กำลังการผลิตจะลดลงจากแผนประมาณ 20% อีกทั้งได้พิจารณาถึงการจัดหาผลิดภัณฑ์จากภายนอกเพื่อนำมาขายแทนการผลิตเองบางส่วน ในกรณีที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า รวมถึงได้มีการพิจารณาการจัดหาน้ำมันดิบทางเลือกเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม

 

นอกจากนี้ได้พิจารณาปรับแผนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAMโดยหยุดซ่อมหน่วยกลั่นที่ ในระหว่างที่ใช้กำลังการผลิตลดลง และเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAM) ในส่วนอื่นๆ ตามแผนเดิมที่จะดำเนินการในไตรมาส ของปีนี้ ออกไปเป็นปีหน้า เนื่องจากการซ่อมบำรุงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและผู้รับเหมาเป็นจำนวนมากเข้ามาดำเนินงานทำให้อาจเกิดความเสี่ยงด้านการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ตัวเร่งปฏิกิริยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงในปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบริหารกระแสเงินสดอีกด้วย

 

ด้านการจำหน่าย บริษัทฯ ประเมินว่าปริมาณการจำหน่ายของธุรกิจการตลาดในปีนี้จะปรับตัวลดลงประมาณ 20-25% โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน ทางบริษัทฯ ได้มีมาตรการในการกระตุ้นยอดขาย โดยการจัดโปรโมชั่นผ่านทาง Loyalty program รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร ส่วนทางด้านธุรกิจ Non-oil เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีรวมไปถึงร้านกาแฟอินทนิลลดลง ก็ได้มีการปรับตัวต่อสถานการณ์โดยเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Delivery มากขึ้น ในส่วนของการขยายสาขาของสถานีบริการและธุรกิจ Non-Oil ยังคงดำเนินการตามแผน แต่อาจมีการชะลอการลงทุนบางส่วนด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว

 

ด้านสถานะการเงิน บริษัทฯ เตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ โดยได้ทบทวนและปรับแผนการใช้จ่าย (OPEX) และแผนการลงทุน (CAPEX) ในโครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจของปี 2563 โดยให้มีการปรับลดหรือชะลอ รวมถึงเลื่อนการลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจหลักและต้องปฏิบัติตามกฎหมายและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยสามารถปรับลด OPEX ได้ 20% และลดและเลื่อน CAPEX ได้ 15%

 

สำหรับการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯ ได้มีมาตรการในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ติดตามดูแลและจัดเก็บหนี้ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ตลอดจนบริหารจัดการชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ได้มีการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับในกรณีที่มีความต้องการใช้ โดยล่าสุดบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investors and/or High Net Worth Investors) มูลค่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ สะท้อนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อ บริษัทฯ โดยส่วนหนึ่งเพื่อนำไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ และสำรองส่วนหนึ่งเพื่อการบริหารการเงิน

 

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะทำงาน Innovation Continuity Task Force ระดมความคิดจากพนักงานในการต่อยอดธุรกิจเดิมหรือสรรหาแนวการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากวิกฤตโควิด-19