โควิด ดึงศักยภาพ ‘นวัตกรไทย’ ช่วยบุคลากรการแพทย์

15 พ.ค. 2563 | 02:51 น.

 

ปัจจุบันโรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้ว กว่า 2 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านราย แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงแต่สถานการณ์ยังต้องอยู่ในการควบ คุมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซํ้ารอบ 2 ขณะที่หลายภาคส่วนต่างก็เดินหน้าในการช่วยกันพัฒนานวัตกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำให้เห็นว่านวัตกรไทยมีศักยภาพและความสามารถด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่ไม่แพ้ชาติอื่น

 

ผุด Teleclinic ยกระดับสาธารณสุข

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต ทรูได้เร่งสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์โดย ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Teleclinic และเปิดใช้งานจริงครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชัน Chula Teleclinic ช่วยบุคลากรทางการแพทย์คัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นพร้อมเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านระบบแชตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวมถึงมีระบบบริหารจัดการด้านการแพทย์ที่ช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังช่วยให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย

 

โควิด ดึงศักยภาพ ‘นวัตกรไทย’ ช่วยบุคลากรการแพทย์

 

 

ผนึกวิศวกรพัฒนานวัตกรรม

ด้าน ​ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา พลังของ “วิศวกร” และ “มหาวิทยาลัยไทย” ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ ที่เอื้อต่อการรักษาทางการแพทย์ และผ่านกระบวนการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวนมาก อาทิ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ - ลดเสี่ยงติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์, ห้องแยกโรคความดันลบ - ปรับความดันอากาศภายในห้องตํ่ากว่าภายนอกห้อง พร้อมป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง, หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี -ทำลายดีเอ็นเอของไวรัส และหยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์, ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ - นวัตกรรมที่ช่วยควบคุมการบีบของเครื่องช่วยหายใจ ให้เป็นจังหวะเหมือนกับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย เป็นต้น โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการพัฒนาของวิศวกรไทยเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการสู้กับโรคโควิด-19

 

 

ส่งหุ่นยนต์ช่วย ร.พ.สนามภาคใต้

ขณะที่นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า ภาคใต้ เป็นอีกพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเอไอเอสได้นำเทคโนโลยี 5G พร้อมดิจิทัล โซลูชัน มาสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และพยาบาล ที่โรงพยาบาลสนามในภาคใต้ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนา ADA Robot หุ่นยนต์บริการทาง การแพทย์ โดยทำเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ทำหน้าที่ส่งยา อาหาร และ เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงพูดคุยสื่อสารระหว่าง ผู้ป่วยและหมอผ่านระบบวิดีโอคอลล์ และรุ่นที่ 2 เพิ่มกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อประเมินการรักษาเบื้องต้น ซึ่งหุ่นยนต์ จะถูกนำไปใช้งานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ลดเสี่ยงให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,574 หน้า 16 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม 2563