กรมชลยันพ้นวิกฤติแล้ง โชว์5แผนบริหารน้ำรับฝน

12 พ.ค. 2563 | 09:10 น.

กรมชลฯยันไทยพ้นวิกฤติแล้งแล้ว รอกรมอุตุฯประกาศเข้าสู่ฤดูฝน พ.ค.นี้ มั่นใจข้าวเขตชลประทานรอเกี่ยว 1.2 ล้านไร่ไม่ตายแล้ง  โชว์ 5 มาตรการบริหารจัดการน้ำปี 63/64 ป้อนทำนาปีมากสุด 16.79 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยาได้มากสุด

นายทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน (ชป.) เผยว่า ฤดูแล้งสำหรับประเทศไทยกำลังจะผ่านพ้นไป และไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน รอเพียงกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนคาดประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ช่วงรอยต่อนี้ทางกรมฯจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ขณะที่ข้าวนาปรังในเขตชลประทานที่ปลูกเกินแผนกว่า 1.9 ล้านไร่ (แผนปลูก 2.31 ล้านไร่ ปลูกจริง 4.21 ล้านไร่) ขณะนี้รอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1.2 ล้านไร่ คาดผลผลิตจะไม่กระทบมาก เพราะส่วนใหญ่รอเก็บเกี่ยวและไม่ต้องใช้น้ำมากแล้ว

 

กรมชลยันพ้นวิกฤติแล้ง  โชว์5แผนบริหารน้ำรับฝน

 

“ยืนยันว่าน้ำจะมีพอใช้ไปถึงเดือนกรกฎาคม แม้น้ำในอ่างหรือในเขื่อนจะมีน้อย หรือฝนอาจทิ้งช่วงแต่จะบริหารจัดการให้พอใช้กับทุกภาคส่วน”

 

สำหรับมาตรการของกรมฯในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้งปี 2563/64 ที่ได้เตรียมไว้มี 5 มาตรการ คือ 1. การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี  2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง 3. บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบชลประทาน 4. กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ และ 5. วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 

 

ทั้งนี้ในแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝนปี 2563 กรมฯได้วางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในการเพาะปลูกทั่วประเทศไว้ปริมาณ 31,351.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อเพาะปลูก 27.61 ล้านไร่ แบ่งเป็นการทำนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.54 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 10.29 ล้านไร่

 

แผนดังกล่าวเป็นการใช้น้ำในการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา 11,664.94 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 10.57 ล้านไร่ แบ่งเป็นการทำนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.13 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 2.34 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 4,768.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 2.42 ล้านไร่ แบ่งเป็น การทำนาปี 0.90 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.22 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1.30 ล้านไร่

 

“ในการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทาน แนะนำให้ปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเติบโตของต้นข้าว การเพาะปลูกในฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ควรใช้น้ำชลประทานเสริมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา  โดยในภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 5.13 ล้านไร่ รวมทุ่งบางระกำในที่ดอน 

 

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตกจำนวน 16 จังหวัด คาดจะมีการทำนาปีประมาณ 5.86 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด คาดจะมีการทำนาปีประมาณ 3.48 ล้านไร่ และภาคตะวันออกจำนวน 8 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 1.34 ล้านไร่

 

ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 8 จังหวัด คาดจะมีการทำนาปีประมาณ 0.96 ล้านไร่ ให้เริ่มปลูกข้าวได้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 6 จังหวัด คาดาจะมีการทำนาปีประมาณ 0.03 ล้านไร่ แนะนำให้ปลูกข้าวตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563