หลังพ้นโควิด-19 ต้องปรับเพื่ออนาคตค้าชายแดนไทย

11 พ.ค. 2563 | 07:17 น.

สองวันก่อนได้รับข้อความจากอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า “แล้วการค้าชายแดนไทย-เมียนมาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลัง COVID-19 คะ อยากให้เขียนเชื่อมการค้ากับไทยด้วย เผื่อผู้มีอำนาจได้อ่าน อาจจะได้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์” จริง ๆ แล้วตั้งแต่ผมเขียนบทความมา ผมจะไม่ค่อยกล้าที่จะแตะต้องสถานการณ์ในประเทศมากนัก เหตุผลเพราะคนไทยเรามีความคิดของตนเองค่อนข้างสูง คนเก่งก็เยอะมาก ผมเป็นเพียงคนตัวเล็กๆคนหนึ่งในสังคมไทย จึงไม่ค่อยกล้าหาญชาญชัยแสดงตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญใดๆครับ อีกอย่างหนึ่ง การวิจารณ์ในบทความต่างๆ ก็มีคนเก่งหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเยอะมากแล้วครับ ผมเลยพยายามเขียนเรื่องเมียนมาเป็นหลัก เพื่อวัตถุประสงค์ให้คนไทยเราได้รู้จักประเทศเมียนมามากขึ้นครับ

 

พูดถึงการค้าชายแดนไทย-เมียนมา หลังเจ้าวายร้าย COVID-19 ผ่านเลยไป ผมเชื่อว่าการค้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เรามาวิเคราะห์กันดูเล่นๆ นะครับ วันนี้คู่แข่งในการทำการค้าชายแดนมีจำนวนจำกัด หรือตลาดการแข่งขันน้อยราย (Oligopoly)  ตามหลักเศรษฐศาสตร์ตลาดประเภทนี้มีจุดเด่นคือ สินค้าไม่ต้องตัดราคาแข่งขันในตลาดกันมากเหมือนตลาดแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แต่จะแข่งขันกันในเรื่องการให้บริการมากกว่า ในขณะที่ปัจจุบันนี้คู่แข่งสำคัญของไทยคือประเทศจีนกับประเทศอินเดีย ที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ส่วนบังคลาเทศผมยังไม่ได้มองว่าเขาเป็นคู่แข่งเรา 

 

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ความนิยม ราคา และคุณภาพสินค้าเรายังได้เปรียบคู่แข่งอยู่ (ตามความเชื่อของเราในอดีตที่ผ่านมา) แต่ในความคิดของผม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกันเอง ยังเป็นปัจจัยสำคัญทางการค้าชายแดนเป็นอย่างยิ่ง หากเรากระทำการใดๆให้เกิดความเข้าใจผิดกัน แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ควรปล่อยมองข้ามไป หรือคิดว่าไม่สำคัญ เพราะโอกาสที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์มีขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้มีอำนาจจะต้องให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก บางครั้งน้ำผึ้งหยดเดียวก็เป็นเรื่องได้ครับ

         

มาดูว่าวิวัฒนาการหลังเจ้าวายร้าย COVID-19 ผ่านไป ผมคิดว่าตลาดภายในประเทศเมียนมาก็จะเปลี่ยนไป ความนิยมต่างๆต่อสินค้านำเข้า เขาอาจจะต้องคิดหาทางผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามากขึ้น เหตุผลหลักเพราะกระแสเงินสดภายในประเทศจะลดลงต่ำถึงต่ำมาก เพราะในช่วงนี้ภาคการเกษตรที่มีความสำคัญหลักของประเทศเมียนมา ได้หดหายไปมาก

 

ต้องไม่ลืมว่าภาคการเกษตรของเมียนมามีรายได้มากถึง 30% ของ GDP อีกทั้งยังมีการใช้กำลังแรงงานของประเทศมากถึง 12 ล้านคน จากจำนวนกำลังคนวัยทำงาน 24 ล้านคน พอเจ้าวายร้าย COVID-19 เข้ามา ตอนนี้เงียบสงบไม่สามารถออกไปทำการเกษตรหรือเพาะปลูกได้ หากสถานการณ์ลากยาวไปอีก 4-5 เดือน พอพ้นฤดูฝน ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการเพาะปลูกอีก การส่งออกพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ตลาดจีนกับตลาดไทยหายเกลี้ยงหมด คงไม่ต้องพูดถึงรายได้นะครับ เพราะหดหายไปกับสายลมเรียบร้อย

       

พอเกษตรกรขาดรายได้ การจับจ่ายใช้สอยก็ไม่เกิด ดังนั้นผู้บริโภคก็จะหันไปหาสินค้าที่มีราคาต่ำหรือถูกและดีนั่นเอง ทางผู้จำหน่ายสินค้าก็ต้องเสาะแสวงหาสินค้าทดแทน ที่นำมาขายแทนสินค้านำเข้า คราวนี้แหละครับ ผู้ประกอบการใหม่ๆที่คิดจะไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้สรรพกำลังมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า ในการที่จะนำเสนอให้ผู้บริโภคซื้อหาไปใช้ นี่คือเรื่องที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง

 

การทำการตลาดของภาครัฐบาลไทย ที่ทุ่มเงินงบประมาณมากมายในการส่งเสริมการส่งออกทุกๆปี ผมก็คิดว่าท่านต้องคิดหากลยุทธ์ใหม่ๆได้แล้ว ท่านจะใช้เงินในการโปรโมทให้ผู้ประกอบการไปออกงานแสดงสินค้าหรือจับคู่ธุรกิจแบบเดิมๆไม่ได้แล้วละครับ ลูกไม้เก่าๆจะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะไม่ได้สร้างแรงจูงใจมากพอที่เขาจะหันมามองเราอีกต่อไปแล้วครับ ท่านคงต้องทำอะไรให้มากกว่านั้น และต้องมีความกล้าหาญมากกว่าเดิมครับ ตลาดเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่าใช้เงินในทางที่ผิดๆอีกต่อไปเลยครับ เสียดายตังค์.........

       

ส่วนด้านการบริการ ผมคิดว่าเรื่องของโลจิสติกนั้นจะสำคัญมากต่อการค้าในอนาคต เพียงแต่ต้องเดินให้ถูกทาง ต้องหาคู่ที่เป็นชาวท้องถิ่น ที่เขามีศักยภาพที่จะช่วยประเทศไทยเราได้  เราจะลุยเข้าไปทำเองไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะถิ่นใครถิ่นมัน มังกรข้ามห้วยก็เป็นได้แค่กิ้งกือตัวเล็กๆเท่านั้น ต้องวางกลยุทธใหม่นะครับ การสร้างความเชื่อถือระหว่างรัฐต่อรัฐ เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย บางครั้งอย่าคิดว่าการฑูตเพียงอย่างเดียว จะเพียงพอแล้ว ผมกลับคิดต่างครับ การฑูตบางครั้งต้องให้เอกชนมีส่วนร่วม จะได้ผลมากว่านะครับ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็คุยกันไปตามนโยบาย แต่ตัวเล็กๆอย่างเอกชนก็อาจจะมีบทบาทช่วยได้ เพราะเอกชนเขาคุยกัน ทานข้าวกัน คุยกันถูกคอ การค้าก็เกิดแล้วครับ เก็บเล็กผสมน้อย เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน น่าจะมีประโยชน์บ้างนะครับ

 

ว่าจะไม่แตะประเทศไทย ผมก็อดเผลอจนได้ เอาเป็นว่าเล็กๆน้อยๆ จากคนที่มีประสบการณ์ 30 ปีในประเทศเมียนมาก็แล้วกันนะครับ หากคำพูดใดล่วงเกินท่านใดไป ก็กราบขออภัยนะครับ อย่าถือสา คิดเสียว่าเสียงนกเสียงกาก็แล้วกันครับ