บทเรียนสำคัญ“โรคคาวาซากิ”ทำเด็กติดโควิดเสียชีวิต

10 พ.ค. 2563 | 04:19 น.

“หมอเฉลิมชัย” แนะ คนไทยทำความรู้จัก “โรคคาวาซากิ” ยกเคสที่ นิวยอร์ก-อังกฤษ-อิตาลี-สเปน มีรายงานเด็กติดโควิดเสียชีวิตจากโรคคาวาซากิร่วมกับการตรวจพบเชื้อโควิด วอน ผู้รับผิดชอบติดตามพัฒนาการของโรค-แสวงความรู้เพิ่มเติมเพื่อสกัดการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

10 พฤษภาคม 2563 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการ(กมธ.)การสาธารณสุข วุฒิสภา แนะให้คนไทยทำความรู้จักกับโรคคาวาซากิที่อาจพบในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า มีรายงานข่าวเด็กอายุ 5 ขวบจากนิวยอร์ก เสียชีวิตจากโรคคาวาซากิร่วมกับตรวจพบเชื้อโควิด-19 รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็มีรายงานเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการทำนองเดียวกันจากอังกฤษ อิตาลี และสเปน จึงทำให้เราต้องให้ความสนใจผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

 

จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่าเด็กจะมีอันตรายจากโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่ โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) เป็นโรคที่ค้นพบโดยกุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น นามว่า โทมิซาคุ คาวาซากิ เมื่อ ค.ศ.1976 หรือ พ.ศ.2519 เป็นโรคที่พบในเด็กอายุน้อย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ (ประมาณ 80%) มักมีอาการสำคัญ ดังนี้

1.ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 วัน

2.ริมฝีปากแห้งแตก บวมแดง ลิ้นสีแดงที่เรียกว่าลิ้นสตอเบอร์รี่ (Strawberry Tongue)

3.ตาแดงโดยไม่มีขี้ตา

4.มือเท้าบวมและมักมีผิวหนังที่ฝ่ามือฝ่าเท้าลอก

5.ผื่นแดงตามลำตัว

6.ต่อมน้ำเหลืองโตที่ลำคอ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มักจะพบว่าเด็กที่มีอาการมักจะมีการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียนำมาก่อน

สำหรับอาการมี 3 ระยะ คือ 1.ไข้สูงเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ 2.มีผื่นลอกและอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และ 3.ระยะพักฟื้นประมาณ 4 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ มีการโป่งพองของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Coronary Artery Aneurysm) ซึ่งถ้าผนังหลอดเลือดบางลงและแตกออกก็ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาจะประคับประคองตามอาการ รวมถึงให้ภูมิคุ้มกันทางหลอดเลือดดำ (Immunoglobulin)(IV IG) เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือด

 

“จะเห็นได้ว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19นั้น มีการพบเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจำเป็นจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆโดยเฉพาะความรู้ทางวิชาการ และข้อค้นพบต่างๆที่เกิดจากการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อให้เรามีองค์ความรู้ และมีความเข้าใจที่มากเพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการโรคโควิด-19ให้ดีที่สุดต่อไป” นพ.เฉลิมชัย ระบุ