ภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่เลวร้ายกว่าที่คิด

10 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3573 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.63

ภาพสะท้อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นดัชนีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไตรมาสแรกปีนี้ ก็พอมีความหวังหรือชื่นใจขึ้นมาบ้าง หลังจากที่หลายสำนักต่างคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจของโลกและไทยเองอยู่ภาวะหัวทิ่ม

 

สศอ.ได้เก็บข้อมูลตัวเลขเอ็มพีไอไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า เพิ่มขึ้น 5.22% จากไตรมาส 4 ของปี 2562 ที่ติดลบ 6.8% ก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังพบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 66.68% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนอยู่ที่ 63.33% แค่มีนาคมเพียงเดือนเดียว เอ็มพีไอปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์ 1.87% และอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 67.22%

 

อานิสงส์ที่ว่านี้ มาจากอุตสาหกรรม Hard disk drive มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ที่แต่ละประเทศใช้มาตรการ work from home มีคำสั่งผลิตและส่งมอบเพิ่มขึ้น หลังห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในประเทศจีนมีปัญหา และการปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ รวมถึงผู้ผลิตได้ปรับแผนเร่งผลิตและส่งออกให้มากขึ้นผ่านทางเรือแทนการขนส่งผ่านเครื่องบิน เที่ยวบิน

รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทมีการผลิตเพิ่มขึ้น จากความต้องการอาหารของแต่ละประเทศ ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดี

 

สศอ.ประเมินว่าในช่วงเดือนเมษายน จะปรับตัว ในทิศทางที่ดีขึ้นอีก เพราะเห็นสัญญาณที่ดีจากการนำเข้าสินค้ารวม (ไม่รวมทองคำ) ของเดือนมีนาคม ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.49% โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้น 4.72% แสดงให้เห็นถึงความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้ไป ในกลุ่มอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก อาหารบางสาขา เป็นต้น

 

แนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าว มีการคาดการณ์ตัวเลขเอ็มพีไอปีนี้ จะมีอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับอานิสงส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิส์ จะขยายตัวที่ 2.4% ปิโตรเคมี 0.95% ยางรถยนต์ ขยายตัว 1.3% ถุงมือยาง 5.92% เคมีภัณฑ์ 0.1% เส้นใยสิ่งทอ 1.62% เสื้อผ้าสำเร็จรูป 0.21% ปศุสัตว์ 4.1% ผักและผลไม้ 1.2% ประมง 1.5% เป็นต้น

 

สอดรับกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นหรือฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะหดตัวน้อยลงจากในช่วงครึ่งปีแรก 2563