‘โควิด’ฉุดซื้อขายที่ดิน ทำเลกลางใจเมืองราคาวูบ 30%   

11 พ.ค. 2563 | 00:00 น.

วิกฤติไวรัสโควิด-19 ป่วนอสังหาฯรุนแรง ไม่เห็นแน่การซื้อขายที่กลางเมืองวาละ2-3 ล้าน ส่งผลราคาวูบ 20-30% จับตาหลายบริษัทขาดสภาพคล่องลดพนักงาน ขายทรัพย์สินพยุงธุรกิจก่อนจะล้มไม่เป็นท่า

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อยู่ในภาวะชะลอตัว 1-2 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนซัพพลายสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะดีมานด์ เพิ่มขึ้นไม่ทันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จนทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในหลายพื้นที่ เนื่องจากผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกันมากเกินไป โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมทำให้ซัพพลายเกิดขึ้นจำนวนมากตามแนวรถไฟฟ้าในบางทำเล ส่งผลให้การ ชิงไหวชิงพริบซื้อที่ดินราคาแพงระยับกลางใจเมือง ตารางวาละ 2-3 ล้านบาท หายไปจากตลาด

 

ทั้งนี้ นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์ว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ แนวโน้ม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขายสินทรัพย์เพื่อรักษาสภาพคล่อง และลดภาระหนี้-ดอกเบี้ยที่แบกอยู่ โดยในระยะ 2 ปีนับจากนี้ จะมีการขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท รวมถึงที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อพัฒนาโครงการในอนาคต โดยเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ทยอยประกาศขายที่ดินออกมาบ้างแล้ว และจะยิ่งมีมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ทั้งการเสนอขาย การจำนอง จำนำ และการขายฝาก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนซื้อหรือไม่ เพราะทุกคนก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมด ส่งผลให้ราคาที่ดินในตลาดจะเริ่มลดลง 20-30% ภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้จะไม่เห็นการซื้อขายที่ดินในราคาตารางวาละ 2-3 ล้านบาท โดยเจ้าของที่ดินจะเปลี่ยนจากการขายเป็นการปล่อยเช่าระยะยาวแทน

กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนอาจทำให้หลายบริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่อง เพราะยอดขายและรายได้ไม่สอดคล้องกับภาระหนี้และภาระต้นทุนที่มีอยู่ จนต้องขายสินทรัพย์ รวมถึงลดพนักงาน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด และจะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ หลังจากวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป

หลายบริษัทจะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ หรือหุ้นกู้ และจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ซอฟท์โลนของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เช่น อาจจะกำหนดให้ต้องขายสินทรัพย์ หรือลดราคาสินค้าลงมา เพื่อระบายสต๊อกที่มีอยู่ออกไปก่อน ซึ่งจะมีบริษัทที่เกิดปัญหาสภาพคล่องให้เห็นแน่นอน ขณะเดียวกัน หลายบริษัทจะต้องลดภาระด้วยการ ลดเงินเดือน หรือให้พนักงานออก รวมถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้

 

สำหรับบทสรุปสุดท้ายผลกระทบโควิด-19 จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งในด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป และแนวทางการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ผู้ประกอบการต้องนำเรื่องของวิกฤติขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติจากโรคระบาด วิกฤติที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอและส่งผลกระทบอย่างรุนแรง รวดเร็ว มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเพื่อป้องกันความเสี่ยง

 

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมุ่งสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จะมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจมากขึ้น โดยโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจะมีบทบาทมากขึ้น และยังเป็นตลาดที่พอไปได้อยู่ ขณะที่คอนโดใหม่จะลดจำนวนลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การพัฒนาจะเน้นโครงการขนาดเล็กที่อยู่รอบๆ เมืองชั้นในกระจายไปตามแนวรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเปิดในอนาคต

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 10 -13 พฤษภาคม 2563