PTTGC ไตรมาส1/63 พลิกขาดทุน 8,784 ล้านบ.

09 พ.ค. 2563 | 06:09 น.

PTTGC แจง Q1/63 พลิกขาดทุน 8,784 ล้านบาท  เหตุขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 2,193 ล้านบาท - ราคาน้ำมันดิบปรับลง 3 เท่าตัวมาอยู่ระดับ 23 เหรียญสหรัฐฯณ สิ้นไตรมาสแรกนี้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC  รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัท มีรายได้จากการขายรวม 93,036 ล้นบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาส 4/2562 และลดลงร้อยละ 18 จากไตรมาส 1/2562 โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลกำไรจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง) ในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1,128 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 1,005 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 212 โดยมี Adjusted EBITDA ในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 6,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากไตรมาส 4/2562 แต่ลดลงร้อยละ 35 จากไตรมาส 1/2562 โดยปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์ รวมถึงการฟื้นตัวของส่วนต่างผลิตภัณฑ์ในธุรกิจอะโรเมติกส์

 

อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1/2563 ระดับราคาน้ำมันดิบได้มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงจาก 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 2562 มาเป็น 23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 ส่งผลให้เมื่อรวมผลกระทบอื่นจากผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net NRV) เป็นผลขาดทุน 8,906 ล้านบาท และจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสจึงส่งผลให้บริษัทมีผลจากขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,193 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสุทธิรวม 8,784 ล้านบาท ( ขาดทุน 1.96 บาท/หุ้น)

 

ในส่วนของการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้ มีการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้โรงกลั่นน้ำมันสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังการผลิตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่นน้ำมันเป็นเวลา 52 วัน แม้ว่าในไตรมาสนี้จะมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงโอเลฟินส์ 2/1 และ2/2 เป็นเวลา 39 และ 35 วันตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณการขายของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลง แต่โดยรวมปริมาณการขายยังมีการปรับเพิ่มขึ้น

ในไตรมาสนี้ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปีโตรเคมีเฉลี่ยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง จากการปรับตัวลดลงของระดับราคาน้ำมันและการชะลอตัวของอุปสงค์ของโลก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซิน ซึ่งได้รับผลโดยตรงจากมาตรการปิดเมืองและลดการเดินทางทางอากาศยาน อันเกิดจากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่น(GRM) อยู่ที่ 3.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับลดลงตามการปรับลดลงของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์หลัก

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเตากำมะถันต่ำกับน้ำมันดิบดูไบที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับทางบริษัทสามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานและเปลี่ยนไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลตามภาวะความต้องการน้ำมันอากาศยาน ซึ่งช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ สำหรับในส่วนของธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ (BTX P2F) สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 91 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันมาอยู่ที่ 163 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

 

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับราคาคอนเดนเสต และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เบนซินกับราคาคอนเดนเสตที่เพิ่มขึ้น จากการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบคอนเดนเสตตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ ในขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการที่ลดลง โดยเป็นผลจากปริมาณการขายที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาส 1/2563 ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เฉลี่ยทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่บริษัท รับรู้จำนวน 576 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38 จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาส 1/2562 โดยหลักเป็นผลจากการอ่อนตัวของธุรกิจอะดริโลไนไตรล์ (AN) และธุรกิจโพลิโพรพิลีน (PP) ขณะที่ผลประกอบการในส่วนของธุรกิจไบโอพลาสติกที่บริษัท ดำเนินการผ่านบริษัท Natureworks ประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น