แบงก์รับมือ สภาพคล่องล้น

10 พ.ค. 2563 | 23:30 น.

แนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลแบงก์บริหารสภาพคล่องส่วนเกินยากขึ้น อาจถึงขาดทุน ชี้แนวโน้มเงินฝากยังโตต่อเนื่อง เหตุปลอดภัยและให้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุนประเภทท่ามกลางความเสี่ยงจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะออมทรัพย์พิเศษยังจ่ายดีกว่าพันธบัตร “ทิสโก้” เลี่ยงลงทุนกองทุนเปิดตราสารหนี้ ด้าน“ทหารไทย” ระบุเงินยังไหลเข้าจากตลาดเงินฝาก

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ทั้งใช้จ่ายทางตรงและจ่ายชดเชยให้ประชาชน ควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่อง กดดอกเบี้ยให้ต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหนี้ที่สูงขึ้นทั้งภาครัฐ เอกชนและครัวเรือน ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ยาก ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำจะยังอยู่ไปอีกนาน

 

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธนบดีธนกิจและบริการธนาคาร บมจ.ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินจากเงินฝากของสถาบันการเงินจะยากขึ้นและอาจจะขาดทุนได้ แต่ภาพรวมเงินฝากปีนี้ ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่ยังจ่ายดอกเบี้ยดีกว่าพันธบัตร เห็นได้จากเงินฝากออมทรัพย์พิเศษในตลาดยังจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า 1% ต่อปี แต่ส่วนใหญ่จะจำกัดวงเงินฝากตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท

 

โจทย์ของเงินฝากปีนี้ นอกจากประคองเพื่อรักษาฐานแล้ว ยังต้องขายผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าตลาดหุ้นหรือตราสารหนี้ ซึ่งทั้ง 2 ยังต้องรอตลาดกลับมาฟื้นตัวอีกระยะ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีตลาดปรับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเข้าสู่ล็อกดาวน์

แบงก์รับมือ  สภาพคล่องล้น

ผมมองว่าปีนี้ สินเชื่อมีโอกาส บวกลบ 1-2% อาจจะตกไม่มาก เพราะมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือ แต่พอเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ภาคธุรกิจไม่กล้าขยายกิจการหรือรายย่อยที่ยังมีรายได้ ก็ต้องชำระสินเชื่อเดิม ขณะที่่เงินฝากมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น เพราะคนย้ายเม็ดเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย หลังเกิดความไม่แน่นอนในตลาดตราสารหนี้

 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มหลังโควิด ในแง่ผู้มีเงินออมต้องบริหารเงินออมให้มีทั้งเงินฝากและกองทุน กรณีคนที่ต้องการใช้เงินอาจจะเก็บออมในบัญชีเงินฝาก เพื่อสำรองการใช้จ่ายมากกว่า หรืออาจออมเงินทั้งเงินฝากและการลงทุนในสัดส่วนเท่าๆกัน 50:50 โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนปิด ซึ่งมีระยะเวลาแน่นอน ส่วนกองทุนตราสารหนี้แบบเปิดนั้นที่ผ่านมาทิสโก้ประเมินไว้ตั้งแต่วิกฤติรอบที่แล้วว่า ไม่ควรลงทุนในจำนวนมากหรือแนะนำให้เลี่ยงการลงทุน

 

ในแง่ของผู้ประกอบการสิ่งสำคัญคือ สภาพคล่อง เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีมักจะมีปัญหากระแสเงินสด ดังนั้น จะต้องหาวิธีควบคุมกระแสเงินสด ทั้งไม่ขยายการลงทุน หรือไม่ใช้จ่ายในสิ่งไม่จำเป็น อย่างกรณีเกิดโรคระบาดโควิดรอบนี้จะเห็นผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องในค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน ดังนั้นต่อไปจะต้องสำรองกระแสเงินสดยิ่งมากยิ่งดี

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์เคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า แนวโน้มเงินฝากปีนี้น่าจะโตมากกว่าปีก่อน โดยคาดว่าเงินฝากมีโอกาสจะกลับมาเติบโตค่อนข้างสูงในไตรมาส 3 น่าจะแตะ 7% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5-4% เพราะเงินฝากมีความปลอดภัยสูงและผลตอบแทนค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง เห็นได้จากผลตอบแทนกองทุนรวมอยู่ในอัตราต่ำกว่าเงินฝาก ขณะที่ธนาคารในระบบยังรักษาระดับผลตอบแทน โดยไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นในอนาคตทั้งประชาชนและนิติบุคคล/บริษัทต่างๆ จะกลับสู่ตลาดเงินฝากมากขึ้น

 

ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อปีนี้ ไม่น่าจะเติบโตมาก แต่ไม่ถึงกับติดลบ เพราะบริษัทหันมาใช้สินเชื่อกับธนาคารในระบบมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ไม่สำเร็จเหมือนกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนการออกหุ้นกู้แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดสินเชื่อปีนี้ยังเห็นการเติบโตในหมวดของส่วนบุคคล อุปโภคบริโภคและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecure Loan) แต่ในส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่น่าจะเติบโตมาก

 

ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกินรวม 3.7 ล้านล้านบาทถือว่า อยู่ในระดับสูง ส่วนข้อถามกรณีรัฐบาลจะออกพันธบัตรออมทรัพย์นั้น ทีเอ็มบีมองว่า ต้องเทียบผลตอบแทนกับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะเทียบผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตั้งแต่ 24-36 เดือน ซึ่งอัตราสูงกว่าเกือบ 2%”

 

 ส่วนแนวโน้มต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อเทียบกับเงินฝากนั้นส่วนตัวยังมองว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้อต่อผู้กู้ในระบบ ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทกำหนดระยะเวลา (MLR) และดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะคิดเป็นอัตราลบ เช่น สินเชื่อบ้านส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR ลบ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563