ต้านแยกธุรกิจ ป่วนฟื้นTG

09 พ.ค. 2563 | 23:00 น.

แผนฟื้นฟูการบินไทยลุ้นจ่อเข้าครม. 12 พ.ค.นี้ พนักงานหวั่นผ่าตัดใหญ่กระทบการจ้างงาน สหภาพฯร้องขอมีส่วนร่วมในแผนฟื้นบินไทย ทั้งแนะวิธีปรับปรุงองค์กรโดยไม่ต้องแยกหน่วยธุรกิจ คงสถานะรัฐวิสาหกิจ ยํ้ายกเลิกขายตั๋วผ่านเอเยนต์ ลดการคิดค่าหัวคิว ยุบไทยสมายล์-วิงสแปน ขายทิ้งหุ้นนกแอร์ ปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่

ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด และจะนำเสนอครม.ให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องรอลุ้น การประชุมครม.ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

 

ขณะที่ภายในองค์กรเอง ก็มีแรงกระเพื่อม เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนต่อกรณีแผนฟื้นฟู โดยหนุนการฟื้นฟูการบินไทย แต่ค้านการแปรรูปแยกหน่วยธุรกิจ

 

ต้านแยกธุรกิจ  ป่วนฟื้นTG

 

จ่อชงแผนฟื้นฟูเข้าครม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาคนร.ได้ส่งแผนฟื้นฟูการบินไทยมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด แอกชัน แพลน ของแผนฟื้นฟูที่จะเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงเคพีไอ วัดผลการทำงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อรัฐบาลตัดสินใจอะไรออกไป การบินไทยจะต้องกลับแข็งแรง ดำเนินธุรกิจโดยที่รัฐไม่เสียหาย ซึ่งหากดูแล้วแผนมีความเป็นไปได้ก็จะนำเสนอครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด

 

ส่วนประเด็นที่สหภาพฯการบินไทย แสดงจุดยืนต่อกรณีแผนฟื้นฟูบมจ.การบินไทย ถึงนายกรัฐมนตรีนั้น เราก็ต้องรับฟัง แต่จะทำตามหรือไม่ต้องพิจารณาตามเหตุและผล ไม่งั้นการฟื้นฟูก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ร้อยคนก็ร้อยความเห็น โดยแผนฟื้นฟูที่เกิดขึ้นเราต้องดูที่เป้าหมายเป็นสำคัญ เพราะสิ่งสำคัญเราต้องพิจารณาผลกระทบจากโควิด และต้องดูด้วยว่าตอนนี้สายการบินทั่วโลกเขาแก้ปัญหาอย่างไร การพิจารณาผมไม่มีอคติ ในเวลานี้ทุกคนควรจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้การบินไทยอยู่รอด

 

หวั่นผ่าตัดกระทบจ้างงาน

อย่างไรก็ตามสำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่จะเสนอครม. หลักๆ จะมีแผน 2 ระยะที่จะเกิดขึ้น ระยะเร่งด่วนกระทรวงการคลังจะคํ้าประเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยประคองตัวได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ส่วนระยะที่ 2 คือ การฟื้นฟูการบินไทย ให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอย่างเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต

 

ได้แก่ แผนการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งนำมาใช้หนี้เดิม 5.4 หมื่นล้านบาทที่กู้ไป และอื่นๆ อีกราว 2-3 หมื่นล้านบาท นำมาใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป การลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง จาก 51.03% ลงเหลือ 49% แผนผ่าตัดใหญ่การบินไทย ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร ที่จะแยกหน่วยธุรกิจของการบินไทยออกมาเป็นบริษัทลูก

 

รวมถึงการลดจำนวนพนักงานที่เบื้องต้นวางไว้อยู่ที่ 30% ในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 63-65) หรือราว 6 พันคน จากจำนวนพนักงานปัจจุบันทั้งหมด 2.1 หมื่นคน ใช้งบราว 8 พันล้านบาท ซึ่งถ้าครม.อนุมัติแผนนี้ทางการบินไทยก็จะเปิดโครงการร่วมใจจากต่อไป หรือบางส่วนอาจต้องยึดตามกฎหมายแรงงาน

 

ทั้งนี้พนักงานการบินไทยต่างกังวลหากการบินไทยจะออกจากสถานะรัฐวิสาหกิจ รวมถึงแผนผ่าตัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เพราะหวาดหวั่นกับอนาคตในการทำงานของพนักงาน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน และสถานะในการทำงาน ทำให้พนักงานเกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก

 

ต้านแยกธุรกิจ  ป่วนฟื้นTG

 

สหภาพฯค้านแยกBU

นี่เองจึงทำให้ล่าสุดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนต่อแผนฟื้นฟู

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เผยว่าสหภาพฯการบินไทยและพนักงานกว่า 2 หมื่นคน ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูการบินไทย และสหภาพฯขอแสดงจุดยืนในการดูแลปกป้องการบินไทย โดยเน้นในเรื่องของสถานะคงสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัท และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการ ของพนักงานบริษัททุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

 

ต้านแยกธุรกิจ  ป่วนฟื้นTG

ทั้งขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัท ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจของบริษัทออกจากกันหรือมีผลให้บริษัท การบินไทยฯ พ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือถ้าจำเป็นต้องแยกหน่วยธุรกิจเป็นบริษัทลูก ก็ต้องให้การบินไทยถือหุ้น100% เนื่องจากการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติและต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงขอแสดงจุดยืนให้นายกฯรับทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจและสั่งการต่อไปและขอให้มีตัวแทนสหภาพหรือตัวแทนพนักงานการบินไทย มีส่วนร่วมหรือรับรู้ต่อแผนฟื้นฟูดังกล่าวด้วย

 

ต้านแยกธุรกิจ  ป่วนฟื้นTG

 

สหภาพฯคัดค้านการแยกหน่วยธุรกิจ และมองว่าการบินไทยสามารถปรับปรุงการทำงานได้หลายวิธี ในการสร้างรายได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องแยกหน่วยธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกขายตั๋วผ่านเอเยนต์ เน้นการขายผ่านทางออนไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยต้องเสียค่านายหน้าและเกิดการกินหัวคิวร่วมหมื่นล้านบาทต่อปี

 

ทั้งมองว่าควรจะลดภาระต่างๆ ของการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นการยุบสายการบินไทยสมายล์ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะแยกมาเป็นบริษัทลูกเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานแบบเอกชน แต่ที่ผ่านมาก็ขาดทุนมาโดยตลอด การขายหุ้นนกแอร์ทิ้งไปให้หมด การยุบบริษัทวิงสแปนฯ ซึ่งเปนบริษัทเอาต์ซอร์ซของการบินไทย การยุบตำแหน่งผู้บริหารให้น้อยลง การปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใส

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563