หั่นเป้าผลิตมอ’ไซค์ 1.8 ล้านคัน

13 พ.ค. 2563 | 00:30 น.

อั้นไม่ไหว “กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์” ปรับยอดผลิตรถจักรยานยนต์ปีนี้เหลือ 1.8 ล้านคันด้านบริษัทผู้ผลิตเผยยังประเมินสถานการณ์ลำบากว่าตลาดจะฟื้นเมื่อไหร่แต่ทุกค่ายเร่งอัดแคมเปญแรงกู้ยอด

ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไทยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- เม.ย. 63) มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 509,963 คัน ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ขายไป 582,662 คัน ส่วนตัวเลขเฉพาะเดือนเมษายน 78,959 คัน น้อยกว่าปี 2562 ที่ทำได้ 120,457 คัน

 

ในเดือนเมษายน 2563 “ฮอนด้า” มียอดจดทะเบียน 57,959 คัน (ลดลงจากปี 2562 ทำได้ 91,641 คัน) ส่วน ยามาฮ่า 14,164 คัน (ลดลงจากปี 2562 ทำได้ 19,816 คัน) อันดับ 3 “เวสป้า” 1,937 คัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ทำได้ 1,796)

 

ฝั่งบิ๊กไบค์พรีเมียม“ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน” เป็นเบอร์ 1 ด้วยยอด 187 คัน (ปีก่อน 191 คัน) ตามด้วย “บีเอ็ม ดับเบิลยู” 125 คัน (ปีก่อน 124 คัน) อันดับ 3 “ดูคาติ” 87 คัน (ปีก่อน 48 คัน) และไทรอัมพ์ 76 คัน (ปีก่อน 157 คัน)

หั่นเป้าผลิตมอ’ไซค์ 1.8 ล้านคัน

 

แนวโน้มตลาดที่เริ่มหดตัวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศปรับเป้าประมาณการยอดผลิตรถจักรยานยนต์ไทย จากเดิม 2 ล้านคัน ลดเหลือ 1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อขายในประเทศ 1.5 ล้านคัน (เดิมตั้งไว้ 1.7 ล้านคัน) และส่งออก 3 แสนคัน (เดิมตั้งไว้ 4 แสนคัน)

 

เหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับลดเป้าหมายในครั้งนี้มาจากโควิด -19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ประเทศคู่ค้าของไทยได้รับผลกระทบหนักมีผลต่อคำสั่งซื้อ ในส่วนของไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว, การเกษตร, การส่งออก เมื่อเกิดมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในระบบนี้ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอย

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มฯกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ของตลาดรถจักรยานยนต์ว่าการปรับลดในครั้งนี้จะส่งผลต่อมูลค่ารายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากดูตามตัวเลขยอดส่งออก 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม) ทำได้ 249,525 คัน (รวม CBU + CKD) ลดลง 5% แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นที่ 11.42 % หรือ 20,912.70 ล้านบาท

 

“ยอดผลิตของเดือนเมษายนน่าจะปรับลดลงเพราะโรงงานหลายแห่งหยุดทำการผลิต ส่วนตลาดส่งออกที่ยังเติบโตเป็นเพราะว่าไทยเราส่งรถบิ๊กไบค์ ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นมูลค่ารายได้จึงเติบโต อย่างไรก็ตามยังประเมินได้ยากว่าตัวเลขมูลค่าดังกล่าวจะยังเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ คงต้องรอดูในช่วงเมษายน-พฤษภาคมนี้อีกที”

 

สำหรับประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ 1 ใน 5 ของโลก รองจากจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม มีโรงงานผลิต OEM ทั้งสิ้น 14 แบรนด์ ได้แก่ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, ซูซูกิ, คาวาซากิ, เอส วาย เอ็ม, ริวก้า, จีพีเอ็กซ์, เบเนลลี่, คีย์เวย์, ไทรอัมพ์, บีเอ็มดับเบิลยู, ดูคาติ, ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน และล่าสุด รอยัล เอนฟิลด์

 

ขณะที่การปรับตัวของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา เน้นหนักที่แคมเปญ-โปรโมชัน หวังกระตุ้นยอดขายได้บ้าง

“เราต้องชูเรื่องแคมเปญหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้นเพราะปัจจุบันไฟแนนซ์เข้มงวดมากดังนั้นเราต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าสะดวกมากที่สุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเรามีแคมเปญซับเงินดาวน์ให้กับลูกค้าสูงสุดกว่า 1 แสนบาท หรือมอบเวาเชอร์เป็นส่วนลดในการซื้อรถมูลค่ากว่า 8 หมื่นบาท โดยหลังจากออกแคมเปญนี้ไปก็ได้รับผลการตอบรับที่ดี” นายสมรรถ รอบบรรเจิด กรรมการผู้จัดการบริษัทดูคาทิสติ จำกัด หรือ ดูคาติไทยแลนด์ กล่าว

 

ด้านฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ชูกลยุทธ์แคมเปญแรงไม่ต่างจากค่าย อื่นๆ อย่างช่วยผ่อน 8 เดือน หรือซื้อปีนี้ เริ่มผ่อนอีกทีปีหน้า 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563